สำรวจ ‘ 4 กองทุนรถยนต์ไฟฟ้า ‘ ในรอบ 1 ปี เป็นอย่างไรบ้าง
"พลังงานสะอาด" เป็น 1 ใน 10 เทรนด์หลักของโลก แนวโน้มในระยะข้างหน้า แต่ในรอบ 1 ปี ผลตอบแทน 4 กองทุนกลุ่มนี้ "ยังติดลบ" ทั้งหมด และต่ำสุด -35% "มอร์นิ่งสตาร์" เผยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในหุ้นเทคฯ ปีนี้ร่วงแรง แต่ยังเห็นโอกาสลงทุน เพื่อโตไปพร้อมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
"พลังงานสะอาด" (New Energy) นับว่าเป็น 1 ใน 10 เมกะเทรนด์ของโลกแห่งทศวรรษหน้า จากที่ผ่านมาแนวโน้มการการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะจากแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของสหรัฐฯ ที่มาจากพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัย ยอดการขาย "รถยนต์ไฟฟ้า" และการเข้าลงทุนในแบตเตอรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
"รถยนต์ไฟฟ้า" นับว่าเป็นกระแสหลักของโลก และใระยะข้างหน้า แนวโน้มของกลุ่มนี้จะยังดีต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการหันมาจริงจังในการใช้พลังงานสะอาดของหลายประเทศ
โดยจะเห็นได้จากการผ่านร่างกฎหมายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดที่เม็ดเงินมากที่สุดในรอบทศวรรษของสหรัฐ และการที่ Apple ประกาศว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าที่เคยวางแผนไว้ รวมถึงความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐและจีนในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ว่าจะร่วมมือกันจัดการปัญหาโลกร้อน
แน่นอนว่า การลงทุนในธีม "รถยนต์ไฟฟ้า" มีความน่าสนใจ เพราะเป็นการลงทุนที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะข้างหน้าตามการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน
ดังนั้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เริ่มทยอยจัดตั้งกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในกลุ่มดังกล่าว
ปัจจุบัน "กองทุนรถยนต์ไฟฟ้า" (EV FUND) มี 4 กองทุน ดังนี้
1. กองทุนเปิด ยูไนเต็ด แบตเตอรี่ แอนด์ อีวี เทคโนโลยี ฟันด์ : United Battery and EV Technology (UEV)
2.กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ฟิวเจอริสติก พาวเวอร์ ซัพพลาย แอนด์ โมบิลิตี้ : Asset Plus Futuristic Power Supply and Mobility (ASP-POWER)
3. กองทุนเปิด แอล เอช สมาร์ท โมบิลิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า : LH Smart Mobility A (LHMOBILITY-A)
4. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Electric Vehicles and Future Mobility (ชนิดสะสมมูลค่า) (SCBEV(A))
โดยรอบ 1 ปีมานี้ "มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)" ณ 1 ธ.ค.2565 พบว่า กองทุนรถยนต์ไฟฟ้า มีผลตอบแทนยังติดลบทั้งหมด เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า มีการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นเทคโนโลยีในปีนี้ปรับตัวลงมามาก
สะท้อนไปยังกองทุน UEV มีผลตอบแทน -21.20% ,กองทุน ASP-POWER มีผตอบแทน -29.43%, กองทุน LHMOBILITY-A มีผลตอบแทน -35.31% และ กองทุน SCBEV(A) มีผลตอบแทน - 22.03%
สัดส่วนการลงทุนของกองทุนรถยนต์ไฟฟ้า ดังนี้
ทางด้านความเสี่ยงของ "กองทุนรถยนต์ไฟฟ้า" มีความเสี่ยงค่อนข้างใกล้เคียงกองทุนพลังงานสะอาด แต่อาจมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเล็กน้อย
สำหรับ "กองทุนรถยนต์ไฟฟ้า" พบว่า มักเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ อยู่ในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ
โดยมักเป็นการลงทุนผ่านกองทุน ETFซึ่งเป็นกองทุน ETF กลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในสหรัฐ และมีการลงทุนในบริษัทจีนในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ อย่างการลงทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) เป็นการลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักตามมาด้วย กลุ่มแบตเตอรี่
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) แนะนำว่า นักลงทุนที่สนใจกองทุนกลุ่มพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนควรทราบว่า การลงทุนลักษณะนี้จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละนโยบายหรือธีมที่กองทุนเลือกลงทุน ซึ่งอาจมีการกระจุกตัวในกลุ่มหุ้นเติบโต หรือมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนแบบกระจายการลงทุนในหลายธุรกิจ
ทั้งนี้ ธีมพลังงานสะอาด ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นการลงทุนเพื่อการเติบโตไปกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดย Inflation Reduction Act เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวทางภาครัฐที่สนับสนุนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีผลที่ดีต่อเนื่องไปในระยะยาว