กยศ.เผยยอดชำระหนี้ลด28%หลังลูกหนี้รอความชัดเจนของกฎหมาย

กยศ.เผยยอดชำระหนี้ลด28%หลังลูกหนี้รอความชัดเจนของกฎหมาย

กยศ.เผยยอดจ่ายหนี้ลดลงถึง 28% หลังลูกหนี้รอความชัดเจนกฎหมายใหม่ แต่ยังไม่กระทบสถานะกองทุน โดยมีงบเพียงพอต่อการปล่อย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า อัตราการชำระหนี้คืนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาลดลง ซึ่งเป็นผลจากความสับสนในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายกองทุน

ทั้งนี้ ในช่วง 15ก.ย. ถึง 30 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีข่าวการเสนอแก้ไขกฎหมายกองทุนกู้ยืม โดยให้ยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้และค่าปรับผิดนัด  ปรากฏว่า อัตราการชำระในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยลูกหนี้ที่ชำระหนี้ด้วยตัวเอง มีการชำระหนี้คืน จำนวน 2.07 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 28 %  แต่ลูกหนี้ที่ตกลงชำระหนี้ผ่านการหักบัญชีเงินเดือนของบริษัทหรือส่วนราชการที่มีข้อตกลงกับกองทุน มีการชำระคืนในช่วงเวลาดังกล่าว 4.58 พันล้านบาท ไม่ได้ลดลง 

หากมองในภาพรวมของการชำระหนี้ในช่วง 15 ก.ย. ถึง 30 พ.ย.นี้ อัตราการชำระหนี้ลดลง12 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า สภาพคล่องของ กยศ.ในการให้กู้เงินแก่นักเรียน นักศึกษา ยังไม่มีปัญหา  โดยในแต่ละปี กยศ.ปล่อยกู้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยมาจากการได้รับชำระคืนเงินกู้เดิม ราว 3 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินสะสมของ กยศ.เอง ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 3 -4 หมื่นล้านบาท

สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมาย กยศ. ที่ปัจจุบัน กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5 % ต่อปี และค่าปรับไม่เกิน 7.5 % ต่อเดือน โดยเสนอให้แก้ไขเป็นคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2 % และค่าปรับไม่เกิน 1 % ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฎร ได้แก้ไขให้ยกเว้นทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าปรับ  แต่เมื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายให้วุฒิสภาพิจารณา ปรากฏว่า วุฒิสภาได้แก้ไขให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1 %ต่อปี และให้ยกเว้นค่าปรับกรณีผิดนัด

ทั้งนี้ หากวุฒิสภา นำร่างแก้ไขดังกล่าว เข้าพิจารณาในวาระสามในสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วย จะต้องมีการเสนอตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อพิจารณา

ปัจจุบัน กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1 % และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี 

จนถึงปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท โดยในปีการศึกษา2022 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท