อวสานยุคเฟื่องฟู ‘ฟินเทค’ เมื่อเงินถูกกำลังหมดลง จับตาปี 66 ปิดตัวอีกอื้อ

อวสานยุคเฟื่องฟู ‘ฟินเทค’ เมื่อเงินถูกกำลังหมดลง จับตาปี 66 ปิดตัวอีกอื้อ

ยุคทองของเหล่า ‘สตาร์ตอัป’ และ ‘ฟินเทค’ กำลังปิดฉากลง หลังจากที่เฟื่องฟูมานานร่วมสิบปี โดยอัตราดอกเบี้ยโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ยุคเงินถูกกำลังหมดไป ในปี 2566 เราอาจเห็นสตาร์ตอัปและฟินเทคอีกจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวตาม

Key Points:

  • เหล่าสตาร์ตอัปโดยเฉพาะ ‘ฟินเทค’ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังวิกฤติการเงินปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยโลกลดต่ำลง นักลงทุนพยายามแสวงหากำไรในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์
  • การเติบโตของเหล่าสตาร์ตอัปดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2564 โดยบริษัทฟินเทคทำเงินรวมกันได้มากกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์ จนเกิดยูนิคอร์นใหม่ทั่วโลกรวมกว่า 100 แห่ง 
  • บริษัทฟินเทคส่วนใหญ่ที่เคยระดมเงินได้เยอะๆ ในปี 2563-2564 เริ่มเผชิญกับความเลวร้าย หลายบริษัทไม่เคยมีกำไร เนื่องจากตั้งสมมติฐานผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถเติมเงินใหม่เข้ามาได้
  • ปี 2566 นับเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับสตาร์ตอัปและฟินเทคต่างๆ ดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยุคเงินถูกที่เคยมีมาเกือบสิบปีกำลังหมดลง เหล่าฟินเทคกำลังเข้าสู่วังวนแห่งความตาย ไม่สามารถของเงินทุนเพิ่มได้ พนักงานที่ดีจะเริ่มลาออกเพราะทุนของพวกเขากำลังหมดลง

 

"บิล แฮร์ริส" อดีตซีอีโอเพย์พาลและผู้ประกอบการมากประสบการณ์ ขึ้นเวทีลาสเวกัสช่วงปลายเดือน ต.ค.เพื่อประกาศว่า ธุรกิจสตาร์ตอัปของตนอาจช่วยแก้ไขความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานด้านการเงินของชาวอเมริกันได้

แฮร์ริส กล่าวกับซีเอ็นบีซีในช่วงนั้นว่า “ผู้คนประสบปัญหาเรื่องเงิน เราจึงพยายามนำเงินเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้คนเหล่านั้นสามารถควบคุมการเงินของตนเองได้ดีขึ้น”

แต่หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘Nirvana Money’ ที่รวบบัญชีธนาคารดิจิทัลเข้ากับบัตรเครดิตไม่ถึงหนึ่งเดือน แฮร์ริส ก็ปิดบริษัทในไมอามีทันที พร้อมทั้งปลดพนักงานออกหลายสิบคน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงและ “เศรษฐกิจถดถอย” ซึ่งการกลับลำดังกล่าวเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงจุดสิ้นสุดที่จะเกิดขึ้นในโลกเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค

นักลงทุน ผู้ประกอบการและวาณิชธนากรหลายราย บอกว่า บริษัทฟินเทค โดยเฉพาะบริษัทที่ติดต่อโดยตรงกับผู้กู้รายย่อย อาจต้องปิดบริษัทหรือขายบริษัทในปี 2566 เนื่องจากธุรจกิจสตาร์ตอัปไม่มีเงินทุนเหลืออีกแล้ว บริษัทอื่น ๆ อาจจะยอมรับเงินทุน ด้วยการลดมูลค่าที่สูงชันลง หรือรับเงื่อนไขที่ยุ่งยากมากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือก แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นตามมาด้วย

พีท คาเซลลา” หุ้นส่วนบริษัท Point72 Ventures ซึ่งเป็นกองทุนรวมด้านฟินเทค ระบุว่า สตาร์ตอัปตัวท็อปที่มีเงินทุน 3-4 ปี พอจะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่มีแนวทางทำกำไรน่าเชื่อถือ จะได้เงินทุนจากนักลงทุนหน้าเดิม และบริษัทที่เหลือจะหมดเงินทุนภายในปี 2566

“ท้ายที่สุดแล้ว บริษัทฟินเทคจะเข้าสู่วังวนแห่งความตาย ไม่สามารถขอเงินทุนได้อีกและพนักงานที่ดีที่สุดก็จะเริ่มลาออก เพราะทุนของพวกเขาเริ่มหมด” คาเซลลา กล่าว

 

เรื่องวุ่น ๆ ในโลกฟินเทค

บริษัทสตาร์ทอัปหลายพันแห่งผุดขึ้น หลังเกิดวิกฤติการเงินปี 2551 เนื่องจากนักลงทุนทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับบริษัทเอกชน กระตุ้นผู้ประกอบการเพื่อขัดขวางอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นที่นิยม โดยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนักลงทุนพยายามหาผลกำไรที่เหนือกว่าบริษัทมหาชน และนายทุนดั้งเดิมเริ่มแข่งขันกับบริษัทเกิดใหม่จากกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) รวมถึงกองทุนเพื่อการลงทุนของของรัฐและครอบครัว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากกระแสการยอมรับระบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น และธนาคารกลางทำให้โลกเต็มไปด้วยเงิน เกิดบริษัทฟินเทคใหม่ ๆ เช่น โรบินฮูด, ไชม์ (Chime) และสไตรป์ (Stripe) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีมูลค่ามหาศาล

แต่การเติบโตเดินมาถึงจุดสูงสุดในปี 2564 เมื่อบริษัทฟินเทคทำเงินได้มากกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์ และเกิดบริษัทยูนิคอร์นใหม่มากกว่า 100 แห่ง หรือเกิดบริษัทที่มีมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์หลายแห่ง

สจ๊วต ซอปป์” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัลเคอร์เรนต์ กล่าวว่า “20% ของเงินทุนในรูปดอลลาร์ทั้งหมด ไหลเข้าธุรกิจฟินเทคในปี 2564 คุณไม่สามารถทุ่มเงินทุนจำนวนมากไปกับบางสิ่งบางอย่างในเวลาอันสั้น โดยไม่เจอเรื่องวุ่น ๆ ได้เลย”

จำนวนเงินทุนมหาศาลในระบบ ทำให้บริษัทฟินเทคหลายแห่งได้รับเงินทุนทุกครั้งที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จากแอปบัญชีเดินสะพัดที่เรียกว่า‘นีโอแบงก์’ (Neobank) หรือธนาคารดิจิทัล

ผู้ก่อตั้งบริษัทฟินเทคคนหนึ่ง ที่ผันตัวมาเป็นผู้ลงทุน กล่าวอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “เราให้เงินสนับสนุนฟินเทคมากเกินไป เราไม่ต้องการนีโอแบงก์ที่แตกต่างกันถึง 150 แห่ง เราไม่ต้องการผู้ให้บริการด้านธนาคารต่างกันถึง 10 แห่ง แต่ผมก็ลงทุนในธุรจกิจสองประเภทนี้”

 

ตั้งสมมติฐานให้ถูกต้องก่อน

รอยร้าวแรกเริ่มปรากฎให้เห็นในเดือน ก.ย.ปี2564 เมื่อหุ้นของบริษัทเพย์พาลถูกระงับการซื้อขาย และจำนวนบริษัทฟินเทคอื่น ๆ เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดพีค มูลค่าเพย์พาลและเจพีมอร์แกนมากกว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่  โดยมูลค่าทางการตลาดของเพย์พาลเป็นรองแค่เจพี มอร์แกนเท่านั้น

ประกอบกับความน่ากลัวของอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงและสิ้นสุดยุคเงินถูกที่ดำเนินมานานร่วมสิบปี  สิ่งเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้หุ้นบริษัทฟินเทคตกต่ำ โดยกองทุนสเปนเซอร์ กรีน หุ้นส่วนจากทีเอสวีซี บอกว่า บริษัทเอกชนหลายแห่งที่ก่อตั้งในช่วงสองสามปีมานี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ให้บริการกู้ยืมเงินแก่ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนะเดิมๆที่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำตลอดกาล

“บริษัทฟินเทคส่วนใหญ่สูญเงินตลอดการดำเนินงาน แต่ด้วยคำมั่นสัญญาที่ว่า ‘พวกเราจะดึงรายได้กลับมาและสร้างกำไรให้ได้’ นั่นคือ มาตรฐานโมลเดลธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งเหมาะสมกับเทสลาและอเมซอน แต่ฟินเทคหลายแห่งไม่เคยมีกำไรเลย เนื่องจากตั้งสมมติฐานผิดพลาด” กรีนกล่าว และเสริมว่า “เราเห็นบริษัทหนึ่งที่เพิ่มเงินทุน 20 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ไม่สามารถกู้เงินได้ถึง 300,000 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ เนื่องจากนักลงทุนไม่ลงทุนด้วยอีกแล้ว”

 

วัฏจักรธุรกิจสู่ขาลง

นักลงทุนหลายคน กล่าวว่า ตลอดวัฏจักรธุรกิจเอกชน ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ตอัปไปจนถึงบริษัทที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตกต่ำลงอย่างน้อย 30%-50% ซึ่งเป็นไปตามการปรับตัวลงของราคาหุ้นบริษัทมหาชน

ขณะนี้กลุ่มการลงทุนเจอกับกฎใหม่และนักลงทุนพากันถอนการลงทุนออกจากตลาด สิ่งสำคัญอยู่ที่บริษัทจะสามารถแสดงให้เห็นถึงเส้นทางที่ชัดเจนในการทำกำไรได้หรือไม่

"ทอมมาโซ ซาโนบินี" วาณิชธนกิจผู้ช่ำชองการลงทุนฟินเทคจากบริษัทโมเอลิส (Moelis) บอกว่า นอกจากข้อกำหนดการเติบโตในตลาดขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้แล้ว อัตราผลกำไรขั้นต้น ยังต้องเผชิญบททดสอบที่แท้จริงอยู่ นั่นคือ บริษัทเชื่อว่าจะมีสภาพคล่องลดลงภายใน 1 ปี จึงทำให้สตาร์ตอัปปลดพนักงานและกลับมาใช้การตลาดเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปหลายคนหวังว่า การลงทุนจะดีขึ้นในปีหน้า แม้อาจเป็นไปไม่ได้

 

นีโอแบงก์อาจไปไม่รอด

ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและเข้าสู่ภาวะถดถอยตามคาดการณ์ บริษัทที่ปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าและธุรกิจขนาดเล็ก อาจประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้นเป็นครั้งแรก แม้แต่นักลงทุนที่ทำกำไรได้อย่างโกลด์แมนแซคส์ ก็ยังไม่สามารถรับมือกับการสูญเสียได้

“เปกาห์ เอบราฮิมี” หุ้นส่วนผู้จัดการของกองทุนเอฟพีวีและอดีตผู้บริหารมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า “นีโอแบงก์ในหลายประเทศกำลังไปไม่รอด ทุกคนคิดว่าพวกเขาเป็นธนาคารใหม่ที่อาจมีเทคโนโลยีมากมาย แต่ก็ยังเป็นแค่ธนาคาร”

“โอเดด เซฮาวี” ซีอีอีโอเมชเพย์เมนต์ เผยว่า นอกจากนีโอแบงก์แล้ว บริษัทฟินเทคส่วนใหญ่ที่เพิ่มเงินทุนในปี 2563 และ 2564 และเงินทุนมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ 20-50 เท่า กำลังเผชิญหน้ากับสถานกรณ์เลวร้าย แม้บริษัทมีรายได้สองเท่าจากครั้งก่อน แต่ก็มีแนวโน้มต้องระดมทุนใหม่ด้วยการเสนอลดราคาหุ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำลายธุรกิจสตาร์ตอัปได้

“การเติบโตที่รวดเร็ว นำไปสู่การลงทุนมหาศาลด้วยมูลค่าที่ไม่อาจประเมินได้ ซึ่งบริษัทประเภทนี้ทั่วโลก กำลังประสบปัญหาและพวกเขาต้องขายบริษัทหรือปิดตัวลงในปีนี้” เซฮาวี กล่าว

 

จะเกิดการควบกิจการในฟินเทคหรือไม่?

ก็เหมือนกับช่วงวัฏจักรธุรกิจขาลงก่อนหน้านี้ ธุรกิจฟินเทคยังคงมีโอกาส โดยบริษัทที่แข็งแกร่งในตลาดจะแย่งชิงส่วนแบ่งจากคู่แข่งที่อ่อนแอกว่า ด้วยการเข้าซื้อกิจการ และหลุดจากจุดต่ำสุดสู่จุดที่แข็งแกร่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีคู่แข่งน้อยลงและค่าใช้จ่ายจะมีต้นทุนต่ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการตลาดด้วย

"เคลลี โรดลิเกส" ซีอีโอฟอร์จ (Forge) แพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นบริษัทเอกชน กล่าวว่า "แนวทางการแข่งขันเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงที่เกิดความกลัว ความไม่แน่นอนและเมื่อเกิดความเคลือบแคลงใจ”