จับตา ‘เงินบาท’แข็งค่าสุดในเอเชีย กูรูมั่นใจ ธปท.ดูแลใกล้ชิด
"เงินบาท" ประเดิมสัปดาห์แรกปี 2566 แข็งค่าสุดในเอเชีย 'TTB' เผย 5 วันแรกปีนี้พุ่ง 2.1% หลังท่องเที่ยวไทยฟื้นดีกว่าคาด ดึงดูดฟันด์โฟลว์ไหลเข้าบอนด์สั้น ทะลัก 3.7 หมื่นล้าน จับตาทะลุ 33.50 ต่อดอลลาร์ โบรกเกอร์ ชี้หุ้น“สายการบิน-โรงไฟฟ้า-นิคม-นำเข้า” รับอานิสงส์
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttbanalytics) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ในช่วง 5 วันแรกของปีนี้ (1-5 ม.ค.) เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วถึง 2.1% โดยแข็งค่าเป็นอันดับ1 ของสกุลเงินในภูมิภาคเอเซีย และอันดับ 2 ของโลก เพราะแนวโน้มท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงสร้างความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ ซึ่งดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เข้ามาเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้น
ทิศทางค่าเงินบาท หลังจากนี้ คาดว่าในระยะสั้นจนถึงการขยับ ขึ้นดอกเบี้ย รอบใหม่ของเฟดที่จะประชุมปลายเดือนม.ค.นี้ เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าอีกเล็กน้อยที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากแข็งค่าเร็วและหลุดระดับดังกล่าวเชื่อว่า ธปท.น่าจะเข้ามาดูแลเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไปเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ดังนั้นเชื่อว่าเงินบาทไม่น่าแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาท ในปีนี้ ยังมีโอกาสกลับมาอ่อนค่า จากปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจนกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย และหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยต้องติดตามว่าเงินลงทุนต่างชาติจะไหลกลับมากน้อยแค่ไหน โดยประเมินกรอบเงินบาททั้งปีนี้ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์
“แนะนำว่า ผู้นำเข้า อาจจะใช้จังหวะนี้ เป็นโอกาสปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนบางส่วนได้ ทยอยทำเป็นเฟสๆ เพราะทิศทางเงินบาทในระยะข้างหน้ายังผันผวน”
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของปีมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้ามาดูแลค่าเงินบาทบ้าง เพื่อลดความผันผวนไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค หลังจากวานนี้เงินบาทแข็งอย่างรวดเร็วแตะระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น
ทั้งนี้จากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาพักในตลาดพันธบัตรไทย โดยในช่วง 3 วันทำการล่าสุด (30 ธ.ค. 2565 - 4 ม.ค. 2566) นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดบอนด์ไทยรวมมากถึง 42,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาพักไว้ในบอนด์ระยะสั้นเข้ามาเฉลี่ยวันละ 10,000 ล้านบาท และมักมีลักษณะเข้าออกเร็วดังนั้น ยังต้องระวังจังหวะที่ต่างชาติดึงเงินกลับทำให้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่า
นอกจากนี้ก็ยังมีความเสี่ยงขาลงต่อส่งออกไทยให้เปิดกว้าง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอยหลังจากคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวในปีที่ผ่านมา โดยประเมินค่าเงินบาทปีนี้ 32-36 บาทต่อดอลลาร์ หรือเฉลี่ยปิดสิ้นปี 2566 ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือตอนนี้ เงินบาทอาจแข็งค่าเร็ว เพราะสภาพคล่องที่เข้ามามีน้อย ทำให้เงินผันผวนมากขึ้น เงินบาทแข็งค่าเร็ว บวกกับคนคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดแรงๆเหมือนในอดีตมีความจำเป็นลดลง เพราะอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะถดถอยได้ ดังนั้นค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าในไตรมาสแรกปีนี้ จากท่องเที่ยวที่กลับมา แต่ไตรมาส2 จะเห็นการอ่อนค่าลง จากการจ่ายเงินปันผล และนำเงินออกของนักลงทุน
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในระยะสั้น คาดว่าเงินบาทจะยังมีทิศทางแข็งค่าได้ และมีโอกาสแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วง1เดือนนี้ จากเงินทุนไหลเข้าไทย ทั้งนี้เฉลี่ยทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เงินบาทผันผวนแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค คาดทางธปท. ได้พยายามช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา
เนื่องจากในระยะสั้นยังมีโอกาสที่เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นทดสอบแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ขณะที่ทิศทางเงินดอลลาร์ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้น
แต่ยังต้องระวังความผันผวนและแรงกดดันฝั่งเงินบาทอ่อนค่า หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมจังหวะการปรับตัวลงของราคาทองคำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิดในจีนที่ยังน่ากังวลก็อาจกลับมากดดันสกุลเงินฝั่งเอเชียได้เช่นกัน
ดังนั้น ในระยะสั้นมองกรอบเงินบาท แนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ และแนวต้าน 34.00-34.25 บาท แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินให้เต็มที่และหลากหลาย อาทิ Option ท่ามกลางภาวะที่ตลาดค่าเงินยังมีความผันผวนสูง
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
หุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากทิศทางเงินบาทแข็งค่าขึ้น คือหุ้นที่มีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
1.หุ้นกลุ่มสายการบิน เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มที่มีการกู้ยืมเงินสกุลต่างประเทศสูง ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ เคยทำแบบประเมินว่าทุกๆ 5% ที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้หุ้นในกลุ่มสายการบินมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50% ซึ่งแนะนำหุ้นบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)
2.หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นอีกกลุ่มที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศสูง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้ามีการขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น หุ้นที่แนะนำและได้ประโยชน์เชิงบวกจากเงินบาทแข็งค่าบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) , บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
3.หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มที่มีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศสูง แนะนำ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) , บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และ 4.กลุ่มนำเข้าสินค้า แนะนำหุ้นที่ได้รับประโยชน์ บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย)(TOA) ,บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) , บมจ.ซาบีน่า (SABINA) , บมจ.ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์(JUBILE) , บมจ.เจ มาร์ท (JMART) , บมจ. คอมเซเว่น (COM7)