EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็ก ฟื้นตัวช้า แม้เศรษฐกิจฟื้นหลังโควิด-19

EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็ก ฟื้นตัวช้า แม้เศรษฐกิจฟื้นหลังโควิด-19

EIC ชี้ธุรกิจขนาดเล็ก ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่พบว่าธุรกิจขนาดเล็ก โรงแรม-อสังหาฯยังน่าห่วง แนะภาครัฐช่วยเหลือด้านสภาพคล่องต่อเนื่อง

      ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดผลวิจัย “การฟื้นตัวของธุรกิจหลังโควิด ใครว่าขนาดไม่สำคัญ” 
      โดยระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลของ EIC จากข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในไทยจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตามรายงานงบการเงินช่วงปี 2017 ถึง 2021 โดยมีจำนวนบริษัทที่มีข้อมูลเพียงพอตลอดช่วงเวลาที่ศึกษาราว 1.1 แสนราย ประกอบด้วยธุรกิจขนาดเล็กมากถึง 70.4% และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (Wholesale and Retail) ถึง 38.8% ของจำนวนตัวอย่างบริษัททั้งหมด 

      โดยจากการวิเคราะห์พบว่า ROE ของตัวอย่างบริษัทที่นำมาศึกษาปรับลดลงจากค่ากลางเฉลี่ยช่วง 3 ปีก่อนเกิดการระบาดโควิด (ปี 2017-2019) ที่ 8.2% มาอยู่จุดต่ำสุด ณ ปี 2020 ที่ 5.4% ก่อนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2021 ที่ 5.8% ในขณะที่สัดส่วน Zombie firm เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 7% จากค่าเฉลี่ย Pre-COVID ที่ 5.7%
       สะท้อนภาพรวมของภาคธุรกิจที่ได้  รับผลกระทบมากทั้งมิติความสามารถในการทำกำไรและปัญหาสภาพคล่อง จึงยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เท่าระดับก่อนการระบาด

    โดยธุรกิจกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารมีความสามารถในการทำกำไรลดลงและมีปัญหาสภาพคล่องมากที่สุด จากค่าเฉลี่ย ROE กลุ่มธุรกิจโรงแรมในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง -16.5% จาก -12.7% ในปี 2020 
     รวมถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่หดตัว -1.6% ในปี 2021 จาก 0.28% ในปี 2020 สะท้อนการฟื้นตัวที่อาจเริ่มต้นช้ากว่าธุรกิจประเภทอื่นและใช้เวลามากกว่า สอดคล้องกับข้อมูล Zombie firm ที่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องสูงและเพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจกลุ่มอื่น 
      โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วน Zombie firm ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงสุด 8pp (Percentage point) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด
    ทั้งนี้ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่มาก ผลกระทบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก
มีความสามารถในการทำกำไรลดลงต่อเนื่องชัดเจน 
     สะท้อนจาก ROE ในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง 3pp เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด ขณะที่ ROE ปี 2021 ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลาง เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2020 โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ ROE ฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วง Pre-COVID แล้ว
      สอดคล้องกับการวิเคราะห์สัดส่วนบริษัท Zombie ที่ในปี 2021 บริษัทขนาดเล็กมีสัดส่วน Zombie firm เพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 1.5pp เทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนโควิดจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะพิจารณาด้านกำไรหรือสภาพคล่อง บริษัทขนาดเล็กในภาพรวมได้รับผลกระทบที่หนักกว่าจากวิกฤตโควิด 
      ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่อ แม้จะได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐหรือสถาบันการเงินก็ตาม
    ทั้งนี้ เชื่อว่าขนาดของธุรกิจมีผลต่อการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรอย่างชัดเจน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรลดลงพร้อมทั้งยังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องมากที่สุดได้แก่    

      ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ หากมองธุรกิจ 3 กลุ่มดังกล่าวลึกลงไปแยกตามขนาดของธุรกิจพบว่า ในภาพรวมบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ประเภทนี้มี ROE ลดลงมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ 
    โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ ROE ลดลงมากถึงระดับเกือบ -20% ในปี 2021 สาเหตุที่ทำให้โรงแรมขนาดเล็กได้รับผลกระทบที่สูงกว่าโรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่อาจมาจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสุขอนามัยอยู่ค่อนข้างมากและโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA+ ยังมีสัดส่วนน้อย
        อีกทั้ง นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกลุ่มแรก ๆ ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อจึงทำให้อานิสงส์ตกไปสู่โรงแรม 4-5 ดาวที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับภาคอสังหารายเล็ก
      ดังนั้นมองว่า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยและความท้าทาย ในปี 2022 ภาคธุรกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดหลังสถานการณ์โควิด ที่ดีขึ้นเป็นลำดับและการยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น
       อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเภทธุรกิจยังพบว่า ภาคบริการโดยเฉพาะโรงแรมยังคงมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่อยู่ในระดับต่ำและการจ้างงานที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ 
       มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยยังคงเปราะบางจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังสูงและไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยยังมีความเสี่ยงจากทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นจากแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 
       ขณะที่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจกำลังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดที่แรงและลึกกว่า จะยิ่งมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้า โดยถึงแม้ลักษณะโครงสร้างของบริษัทขนาดเล็กจะมีความซับซ้อนน้อยกว่าเอื้อต่อการปรับตัวได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ 
      แต่ข้อจำกัดในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่ออาจมีน้อยกว่า ทำให้ความช่วยเหลือพิเศษจากภาครัฐและการปรับตัวอย่างเหมาะสมยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการประคองบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้
    ดังนั้น ที่ต้องให้การช่วยเหลือ ทั้งผ่าน  มาตรการช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ ในระยะสั้นภาครัฐควรมีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและค่าจ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ ในระยะยาวควรให้ความรู้ในการวางแผนจัดการต้นทุนของธุรกิจและส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy efficiency) 
      (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้นแทนมาตรการแบบหน้ากระดาน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสต่อไปที่อาจให้การอุดหนุนโรงแรมขนาดเล็กมากกว่า หรือมาตรการช้อปดีมีคืนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้บริโภคมากกว่าสำหรับการใช้จ่ายจากสินค้าและบริการธุรกิจขนาดเล็ก  
       นอกจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจถึงปัญหาและให้ความสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปเช่นกัน โดยควรคำนึงถึงปัจจัยดังนี้ 
     (1) รักษาเสถียรภาพของธุรกิจควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง (Maintain viability & risk management) โดยเน้นดูแลงบการเงิน ผ่านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นและลดผลกระทบจากความผันผวนของต้นทุน

     (2) เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer centric) จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอาจใช้ Data analytics เพื่อติดตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  

     (3) ปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Business transformation) ตามพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพารายได้ทางเดียวและเพิ่มโอกาสเติบโตระยะยาว และ (4) ลงทุนเพื่ออนาคต (Invest for the future) ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลงทุนแผน Retrain และ Reskill พนักงานเพื่อเพิ่ม Productivity เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน

      ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนปรับลดลงได้ในระยะยาวและให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่