เปิดสถิติ อัตราดอกเบี้ย ‘เงินกู้-เงินฝาก’ 10ธนาคารพาณิชย์ปี 66
เปิดสถิติ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงินฝากธนาคารพาณิชย์เรทใหม่ปี 2566 หลังแบงก์ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งแผง ที่0.40% สอดรับกับต้นทุน FIDFที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับทั้งดอกเบี้ยรายใหญ่ ดอกเบี้ยรายย่อย
หลังจาก “สมาคมธนาคารไทย” ออกมาประกาศสิ้นสุด มาตรการลดเงินนำส่งเข้าสู่กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นตา ธนาคารพาณิชย์ จะต้องนำส่ง “เงินสบทบ” เข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เข้าอัตราปกติที่ 0.46% จากเดิม 2ปีที่ผ่านมา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการลดเงินสบทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเหลือ 0.23%
นับตั้งแต่ วันที่ 29ธ.ค. ปี2565 เป็นต้นมา เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ออกมาประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย “เงินกู้” ขึ้นทันที 0.40% เพื่อสอดรับกับต้นทุน FIDF ที่เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ หากเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19
หากดูข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ พบว่า เกือบทุกแบงก์มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ในอัตราใกล้เคียงกันเกือบทั้งหมด ทั้งที่ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ และที่ไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก “ออมทรัพย์” ที่ยังคงไม่ปรับเพิ่มขึ้น มีเพียงการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก “ประจำ” ขึ้นบางประเภทเท่านั้น
ทั้งนี้ หากดูอัตรา “ดอกเบี้ยเงินกู้” ของระบบธนาคารพาณิชย์ จากทั้ง 10ธนาคาร ทั้ง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ,อัตราดอกเบี้ย ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) ,อัตราดอกเบี้ยที่ ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) แยกรายประเภทดอกเบี้ยสินเชื่อ
ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ธนาคารพาณิชย์ มีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน โดยอยู่ที่ 6.15-6.48% โดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย อัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.15% ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ 6.25% ตามด้วยกสิกรไทย 6.37% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ 6.48%
ขณะที่แบงก์ขนาดกลาง ถึงเล็ก อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยอยู่ที่ 6.92-7.40% โดย ธนาคารทหารไทยธนชาต อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 6.92% และสูงสุดคือ ซีไอเอ็มบีไทย ที่ 7.40%
ดอกเบี้ย MOR แบงก์ขนาดใหญ่ ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.72-6.75% โดยต่ำสุดคือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีที่ 6.72% และสูงสุดคือธนาคารกรุงเทพ ที่ 6.75% ขณะที่แบงก์ขนาดกลาง อัตราดอกเบี้ย MOR เฉลี่ยอยู่ที่ 7.05-7.90% โดยต่ำสุดคือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ที่7.05% และสูงสุดคือซีไอเอ็มบีธนชาตที่ 7.90%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยรายย่อย MRR พบว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.52-8.35% โดยแบงก์ขนาดใหญ่ 5 แบงก์แรก อัตราดอกเบี้ยรายย่อยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.52-6.77% โดยต่ำสุดคือธนาคาร ไทยพาณิชย์ที่ 6.52% และสูงสุดคือ ธนาคารกรุงไทย ที่ 6.77% ขณะที่แบงก์ขนาดกลาง และขนาดเล็ก อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.46-8.35% โดยต่ำสุดคือ ธนาคารทิสโก้ 6.46%และสูงสุดคือ ซีไอเอ็มบีไทย ที่ 8.35%
ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นครั้งนี้ สวนทาง หากเทียบกับ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะออมทรัพย์ ที่ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยยังอยู่ระดับต่ำที่ 0.25%
แม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ยังคงที่
โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.25-0.125% โดย ธนาคารขนาดใหญ่ ดอกเบี้ยยังทรงตัวที่ 0.25% ขณะที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ต่ำที่สุดคือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตที่ 0.125%