มอร์นิ่งสตาร์ คาดปีนี้’ตลาดกองทุนรวม’ ยังซึม เหตุปัจจัยลบรุมเร้า
“มอร์นิ่งสตาร์” ชี้ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยซึม เหตุหลายปัจจัยลบกดดัน “ศก.โลกถดถอย -เฟดขึ้นดอกเบี้ย -โควิด-สงคราม”ทำให้ยากที่ “เอยูเอ็ม”จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 4 ล้านล้าน แม้ปี 65 อยู่ที่ 3.8 ล้านล้าน
ภาพรวมกองทุนรวมปี 2566 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่อเนื่องมาจากปี 2565 ทั้งเศรษฐกิจโลกถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของโควิด และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อุสาหกรรมกองทุนรวมปีนี้ อาจเติบโตได้ยาก หลังจากปี 2565 ทรัพย์สินรวม (AUM)ปรับตัว ลดลง 11.1% อยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี2564
ขณะที่ผลตอบแทนกองทุนรวมเฉลี่ยปี 2565 พบว่า กองทุนตราสารหนี้ ติดลบ 3.9% กองทุนตราสารหุ้นติดลบ 15.3% กองทุนตราสารหนี้ ติดลบ 3.9% และกองทุนกระจายลงทุนทั่วโลกติดลบ 8.1%
นางสาวชญานี จึงมานนท์นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทิศทางการเติบโตของกองทุนรวมไทยปีนี้ (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ยังคาดการณ์ได้ยาก
เนื่องจากปีนี้ยังมีปัจจัยลบนอกประเทศที่คาดเดายาก กดดันการลงทุน โดยเฉพาะการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์
"การขยับดอกเบี้ยเฟด หากเฟดขยับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าตลาดคาด จะฉุดผลตอบแทนติดลบ ดึงมูลค่าสินทรัพย์( NAV ) กองทุนมีโอกาสหดตัวลงได้อีก หรือหากเฟดขยับขึ้นดอกเบี้ยช้าลงแล้วหยุดแม้เป็นข่าวดี แต่สะท้อนถึงเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น ก็ต้องจับตาดูว่าเฟดจะค้างดอกเบี้ยที่ระดับได้และยาวนานแค่ไหน"
ส่วนในประเทศ แม้มีปัจจัยบวกเรื่องท่องเที่ยวและการเลือกตั้งกลางปีนี้ แต่มองว่า ภายใต้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเศรษฐกิจหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ยังกดดันส่งออกของไทยและเศรษฐกิจไทยภาพรวม ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน
รวมถึง การจัดพอร์ตลงทุนในปัจจุบันมีทางเลือกการลงทุนค่อนข้างมากและนักลงทุนไทยเริ่มมีประสบการณ์ลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น แนวโน้มเม็ดเงินลงทุนในปีนี้จะไปในทิศทางไหนก็ยังคาดเดาได้ยากเช่นกัน
“จากปัจจัยลบที่กดดันนั้น ทำให้ยากที่ AUM ปีนี้ไปแตะระดับเท่ากับก่อนโควิด ที่ 4 ล้านล้านบาท”
สำหรับการลงทุนในช่วงที่ภาวะตลาดมีแต่ปัจจัยลบและยังไม่ฟื้นตัวดี หากเป็นนักลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนระยะยาว นางสางวชญานี มองว่า ในปีนี้เป็นจุดที่กลับมาพิจารณาเริ่มกลับมาลงทุนได้ เป็นการกระจายลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ เพื่อระยะถัดไปสินทรัพย์ลงทุนทุกกลุ่ม มีโอกาสที่ผลตอบแทนปรับตัวขึ้นได้ จากความคาดหวังเฟดมีโอกาสขยับขึ้นดอกเบี้ยช้าลง เป็นข่าวดีที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นรวมถึงตลาดหุ้นไทยตอนนี้
นอกจากนี้ ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ครบกำหนดในปีนี้ราว 37,000 ล้านบาท คาดว่า ภาพเงินไหลออกในปีนี้ ยังเช่นเดียวกับปีก่อนที่มีเงินไหลออกระดับ 32,000- 35,000 ล้านบาท ไม่ฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมามาดัชนีตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นต่อได้ จากปัจจัยอื่นๆมากกว่า เช่น ท่องเที่ยวฟื้นและจีนกลับมาเปิดประเทศเร็วกว่าคาด และยังพบว่า ที่ผ่านมาเงินที่ไหลออกจากกองทุนประหยัดภาษี ยังคงไม่ไหลกลับไปเพื่อการลงทุนระยะยาว อย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มากนัก
ด้วยเหตุสถานการณ์การลงทุน ที่มีปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมา ยังให้ผลตอบแทนติดลบ และเกณฑ์การลงทุนที่เปลี่ยนไป เช่น การกำหนดเพดานการลงทุนของกองทุนประหยัดภาษีที่ยาวขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนของผู้ลงทุนไทย
และกรณี สิทธิประโยชน์ทางภาษีชอปดีมีคืน สำหรับเงินลงทุนกองทุนประหยัดภาษี พบว่า มีผลบวกแค่บางส่วน ปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจลงทุน มองว่า ยังเป็นแผนการลงทุนเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากกว่า ที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาว นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ