สมรภูมิ “Virtual Bank’ แข่งเดือด แบงก์ใหญ่ ลงสนามชิงไลเซนส์
แบงก์ใหญ่ส่งสัญญาณลงสนามชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์’ ‘กสิกรไทย’ สนใจขอไลเซนส์ พร้อมเปิดกว้างจับมือพันธมิตร ด้าน ‘กรุงศรี’ อยู่ระหว่างศึกษาหวังช่วยลดต้นทุนการเงิน ขณะที่ ‘ทีทีบี’ ชี้ยังไม่สนใจชิงไลเซนส์ ด้าน ‘กอบศักดิ์’ ฟันธงเวอร์ชวลแบงก์ สะเทือนวงการสถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดการณ์ว่า หลักเกณฑ์ ในการขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) น่าจะออกมาชัดเจน อย่างเป็นทางการได้ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนจะเปิดให้ผู้ให้บริการที่สนใจ ยื่นขอ “ไลเซนส์” ได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดจะได้ชื่อผู้ที่ได้ไลเซนส์ 3 รายในช่วงแรก ราว ไตรมาส 2 ปี 2567 และ Virtual Bank จะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่กลางปี 2568 เป็นต้นไป
กรอบหลักเกณฑ์การขอตั้ง Virtual Bank เบื้องต้น ต้องจดทะเบียนตั้งในประเทศไทย ภายใต้ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท โดยจะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่สามารถตั้งสาขาหรือมีสาขาอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตู้เอทีเอ็มต่างๆ ได้ รูปแบบประกอบธุรกิจของ Virtual bank ต้องตอบโจทย์ Green line ได้อย่างยั่งยืน และผู้ให้บริการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านดิจิทัลที่สำคัญ คือ ระบบต้องไม่ล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี หรือต่อครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมงฯลฯ
‘กสิกรไทย’ สนใจขอไลเซนส์
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การมาของ Virtual Bank ถือเป็นการเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรม
. ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งระบบการเงิน และการให้บริการประชาชน และยิ่งการมาของ Virtual Bank เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดเป้าหมายไว้ได้จริง ก็น่าจะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายของ ธปท.ในการมี Virtual Bank คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับลูกค้าขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้ว ควบคู่กับมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมรูปแบบใหม่ และการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
เช่น การให้บริการผ่านโครงการ ‘สินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ’ และ โครงการ ‘K PAY LATER’ รวมถึงการขยายจุดให้บริการในพื้นที่ห่างไกลผ่าน Banking Agent ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกค้าขนาดเล็ก และลูกค้ารายใหม่ได้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการปรับโมเดลการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารมีการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงโอกาสในการขอ Virtual Bank License นี้ด้วย
เปิดกว้างจับมือพันธมิตร
นอกจากนี้ ธนาคารยังเปิดกว้างในการหารือร่วมกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับ Virtual Bank โดยธนาคารมุ่งเน้นการพิจารณาว่า การได้มาซึ่ง Virtual Bank License ดังกล่าว จะทำให้สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันที่ธนาคารทำอยู่ หรือทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ ปัจจุบันอยู่หรือไม่ และลูกค้าได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่
ควบคู่กับการประเมินปัจจัยทางด้านความเสี่ยง กรอบการดำเนินธุรกิจ และกฎข้อบังคับต่างๆ ร่วมด้วย ในการตัดสินใจเกี่ยวกับ Virtual Bank License เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย พันธกิจ และวิสัยทัศน์ของธนาคารให้มากที่สุด
กรุงเทพ-กรุงศรีฯ อยู่ระหว่างศึกษา
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษา โมเดลของการทำ Virtual bank ซึ่งต้องรอให้การศึกษา ออกมาชัดเจนก่อน ถึงสามารถตัดสินใจได้ว่า สนใจ ในการขอใบอนุญาต Virtual bank หรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีนอนแบงก์หรือพันธมิตร เข้ามาคุยกับธนาคาร เพื่อร่วมจัดตั้ง Virtual bank ดังกล่าว
“ธนาคารขอศึกษาดูก่อน ตอนนี้ก็ศึกษาอยู่ ส่วนสนใจหรือไม่ ขอให้ผลศึกษาออกมาก่อน ซึ่งก็ยังไม่ทราบ ว่าหากสนใจ จะทำคนเดียวหรือจับมือร่วมกับพันธมิตร แต่วันนี้ ยังไม่มีใครเข้ามาหารือ เพื่อร่วมทำธุรกิจดังกล่าว”
Virtual bank กดต้นทุนการเงินต่ำลง
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์ และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)BAY กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงศรีฯ อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ความเป็นไปได้ และประเมินโอกาสรวมถึงความสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานของธนาคารโดยรวม ในการจัดตั้ง Virtual bank
โดยกรุงศรี มองว่า การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทภาคการเงินไทยให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลที่มีต้นทุนการให้บริการต่ำ สะดวกและปลอดภัย ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“แบงก์ไร้สาขา จะเป็นโอกาสให้ขนาดของตลาดการเงินของไทยขยายใหญ่ขึ้น และจะผลักดันให้ผู้เล่นรายต่างๆ ในธุรกิจนี้ ทั้งรายใหม่ และรายเดิม เร่งปรับตัว และปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันเพื่อคว้าโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในตลาด”
‘ทีทีบี’ ชี้ยังไม่มีนโยบายขอไลเซนส์
นายฐากร ปิยะพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ ดูแลกลุ่มธุรกิจลูกค้าบุคคล ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าวว่า ในส่วนของ ttb ยังไม่มีนโยบายขอไลเซนส์ หรือยังไม่คิดที่จะร่วมกับพันธมิตรในการทำ Virtual banking ณ ตอนนี้ เนื่องจากเชื่อว่า โมเดล Virtual bank น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อหา business model ที่ชัด เพราะหลาย Virtual bank ในต่างประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การมาของ Virtual bank จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น และมองว่าระยะสั้น หลังจากที่ Virtual bank เริ่ม น่าจะเห็นการแข่งขันเรื่อง เงินฝาก เพราะ Virtual bank มักจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงเพื่อ ดึงดูด ให้คนมาฝากเงิน แต่สิ่งที่ต้องติดตามดูคือ นอกเหนือจากให้ดอกเบี้ยสูงแล้ว ลูกค้ายังสามารถได้รับบริการด้านอื่นๆ อย่างไรบ้าง
“ในมุม ttb แม้จะยังไม่มี Virtual bank เข้ามา การปรับตัวก็ต้องทำอยู่เสมอ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ออนไลน์ได้ ไม่ต้องไปสาขา มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตรงใจ ผ่านข้อมูลที่แต่ละธนาคารสะสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี และปัจจุบันโมบายแบงกิงของแบงก์ก็ถือว่า พัฒนาไปมาก ที่ช่วยลูกค้าได้ครบวงจรแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธนาคารรูปแบบเดิม จะมีต้นทุนที่สูงกว่า Virtual bank ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นการบ้านของธนาคาร ที่ต้องพยายามทำให้โมเดลธุรกิจ สามารถลดเรื่องค่าใช้จ่าย ในขณะที่การให้บริการก็ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
‘ซีไอเอ็มบี’ รุกดิจิทัลเทียบ Virtual bank
นายติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออม ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจของธนาคารปัจจุบัน ถือว่าใกล้เคียงการให้บริการผ่าน Virtual bank อยู่แล้ว ทั้งการเดินหน้าลดสาขาธนาคาร ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวมากขึ้น
บวกกับกลยุทธ์ธนาคาร ที่มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายปี 2566 ที่ต้องการยกระดับบริการให้ไปสู่ดิจิทัลราว 50-70% จากธุรกรรมผ่านสาขาในปัจจุบัน
ดังนั้นเชื่อว่า ความจำเป็นในการให้บริการผ่าน Virtual Bank ของธนาคารขณะนี้ ถือว่าน้อยลง เพราะเชื่อว่า หากธนาคารปรับตัว และเร่งให้ลูกค้าหันไปใช้บริการผ่านดิจิทัลได้มากขึ้น การตอบโจทย์ด้านการเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ก็จะมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเติบโตของซีไอเอ็มบี อีกด้าน คือ การจับมือพันธมิตร เพื่อขยายฐานลูกค้า ดังนั้น หากพันธมิตรทางธุรกิจ สนใจ ในการจัดตั้ง Virtual Bank ร่วมกับธนาคาร ก็อาจเห็นการให้บริการเกิดขึ้นได้ในอนาคต
‘เอสซีบี เอกซ์’สน Vritual bank
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวในที่ประชุมวาระพิเศษของธนาคารว่า บริษัทสนใจจัดตั้ง Virtual Bank แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียด เพราะแม้ว่า ธปท. จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่โดยไทม์ไลน์ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะเริ่มให้ดำเนินการได้จริง
ขณะที่ แผนลงทุนของ SCBX อยู่ระหว่างปี 2565-2567 ภายใต้การออกหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นหากการจัดตั้ง Virtual Bank เร่งระยะเวลาขึ้นมา การจัดหาเงินทุนในครั้งนี้จะมีส่วนที่จะใช้สำหรับ Virtual Bank ด้วย
‘กรุงไทย’จับมือเอไอเอส
ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ ADVANC อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมศึกษาการให้บริการ “Virtual Bank” หรือ ธนาคารไร้สาขา อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ เชื่อว่า Virtual bank ไม่ใช่ธุรกิจรูปแบบใหม่ แต่เป็นธุรกิจที่ทำมาแล้ว ในหลายประเทศ อาทิ ในยุโรป สิงคโปร์ ฮ่องกง และ จีน หรือ เรียกว่า Open finance
ส่วนการทำ Virtual bank ในไทย เชื่อว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเอื้อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้า ลูกค้าเก่า ให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก แอดวานซ์ ถือเป็นนอนแบงก์ ที่มีฐานลูกค้า และการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นนอกจาก ร่วมศึกษาทำ Virtual bank ร่วมกันแล้ว เชื่อว่ายังเป็นการเปิดโอกาสในการหาแนวทางทำธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคตด้วย
ทิสโก้ยังไม่มีแผนขอไลเซนส์
ด้าน นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มทิสโก้ ยังไม่มีแผนเข้าไปขอไลเซนส์ หรือให้บริการผ่าน Virtual Bank เนื่องจากการให้บริการรูปแบบนี้ หลักๆ เป็นการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งต่างกับการทำธุรกิจของธนาคารที่มุ่งเน้นสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามพัฒนาการของ Virtual bank ว่าการทำธุรกิจเป็นอย่างไร ตรงกับกลยุทธ์ของธนาคารหรือไม่
แบงก์ไม่ปรับตัวอยู่รอดยาก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ถือเป็นอนาคต ของธุรกิจการเงินในไทย ที่ต้องมุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าว เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน ที่ต้องตั้งรับ ปรับตัว เตรียมตัวเพื่อรับการแข่งขันใหม่ภายใต้ Virtual Bank ที่จะเข้ามาในอนาคต ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่การเข้าถึงผู้บริโภค สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง
เช่นเดียวกัน Virtual Bank ในต่างประเทศ ที่หลายผู้ให้บริการประสบความสำเร็จ และสามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก แม้จะใช้คนเพียง 2,000 คน แต่สามารถดูแลลูกค้าได้ถึง 20 ล้านคน ในแง่การให้บริการผ่านสินเชื่อ และ 200 ล้านบัญชีเงินฝาก หากเทียบกับแบงก์ไทยในปัจจุบัน ที่ใช้คนเป็นหลักหมื่นคน แต่การดูแลลูกค้าทั้งเงินฝาก และสินเชื่อยังอยู่ระดับ 20 ล้านคน ดังนั้นต้นทุนแตกต่างกันมาก
ด้วยเหตุนี้หากแบงก์ ผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เชื่อว่ามีโอกาสอยู่รอดยาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์