‘แบงก์ชาติเลบานอน’ จ่อลดค่าเงินลง 90% ตามเงื่อนไขเงินช่วยเหลือจาก IMF
‘แบงก์ชาติเลบานอน’ เตรียมลดค่าเงินลง 90% สู่ระดับ 15,000 เลบานอนปอนด์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หวังปลดล็อกเงินช่วยเหลือ 3,000 ล้านดอลลาร์ ตามเงื่อนไขไอเอ็มเอฟ พร้อมให้เวลาแบงก์พาณิชย์ปรับตัว 5 ปี
วันนี้ (1 ก.พ. 2566) สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานถ้อยแถลงของ ริยาด ซาลาเมห์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเลบานอนว่า ธนาคารกลางฯ จะปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราใหม่ จากเดิม 1,507 เลบานอนปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น 15,000 เลบานอนปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการลดค่าเงินของเลบานอนลงกว่า 90% หลังจากที่ไม่มีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนมาแล้ว 25 ปี
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวยังน้อยกว่าอัตราซื้อขายในตลาดคู่ขนาน (The Parallel Market) ที่หากอ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา จะอยู่ที่ 57,000 เลบานอนปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ซาลาเมห์ กล่าวเสริมว่า ธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบเริ่มแรกจากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ในสกุลเงินเลบานอนปอนด์มีมูลค่าลดลงเมื่อเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนนี้จะเริ่มบังคับใช้ในธนาคารกลางก่อนเท่านั้น “แบงก์ชาติจะให้เวลากลุ่มธนาคารพาณิชย์ 5 ปีในการปรับเปลี่ยนระบบภายในองค์กรเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนี้ รวมทั้งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง”
ซาลาเมห์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อหลอมรวมอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราในประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้สอดคล้องกับสนธิสัญาซึ่งลงนามไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อปีที่แล้ว ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟก่อนที่จะให้เงินช่วยเหลือต่อเลบานอนจำนวน 3,000 ล้านดอลลาร์ (3 billion dollar) เพื่อฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนที่กล่าวไปข้างต้นประกอบด้วย อัตราแลกเปลี่ยนทางการ, อัตราแลกเปลี่ยนจากแพลตฟอร์ม ซัยระฟะห์ ของธนาคารกลางฯ ซึ่งอยู่ที่ 38,000 เลบานอนปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดคู่ขนาดอย่างที่กล่าวไปตอนต้น
อนึ่ง ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ต้องการให้เลบานอนลดอัตราแลกเปลี่ยนให้เหลือเพียงอัตราทางการเท่านั้น และรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (70 billion dollar) จากปัญหาภายในประเทศช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจาก การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของรัฐ การทุจริต และการบริหารประเทศที่ผิดฝาผิดตัว
ด้าน ไมค์ อาซาร์ นักวิเคราะห์ทางการเงิน และอดีตศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐ กล่าวว่า 5 ปีสำหรับการรับมือกับความสูญเสียนั้นไม่สอดคล้องกับมุมมองของไอเอ็มเอฟที่ว่า เลบานอนควรจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ หากปราศจากกรอบการปรับโครงสร้างธนาคารที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากพอ กลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจจำเป็นต้องขอเพิ่มทุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมสำหรับการรับมือกับความสูญเสียดังกล่าว หรืออีกหนึ่งวิธีคือการผลักภาระให้ผู้ฝากเงิน ผ่านการอนุญาติให้พวกเขาถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ออกมาเป็นสกุลเงินเลบานอนปอนด์ได้
นักวิคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่า สาเหตุที่ธนาคารกลางเลบานอนจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีรวมอัตราแลกเปลี่ยนให้เหลือเพียงหนึ่งอัตรา ตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ เนื่องจากวิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเดียวที่รัฐบาลเลบานอนจะได้รับเงินช่วยเหลือมากถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นทางระบบการเมือง หรือระบบการเงินก็ตาม
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ในปี 2563 เพียงปีเดียว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP) ของประชาชนชาวเลบานีส ลดลงกว่า 36% อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP) พุ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ 3 ของโลก อัตราการวางงานอยู่ที่ 25% รวมทั้ง ประชาชนราว 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) โดยทั้งหมดล้วนเกิดมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งทางศาสนา รัฐบาลที่คอร์รัปชัน และการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป