กรุงศรีรุกโตอาเซียน ขยับเป้ารายได้แตะ10% ปีนี้

กรุงศรีรุกโตอาเซียน ขยับเป้ารายได้แตะ10% ปีนี้

“กรุงศรี”ตั้งเป้าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ“อีเอสจี”ปี73 แตะ“แสนล้าน” เดินหน้าขยายอีก 3 ประเทศ หวังดันรายได้จากอาเซียนเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบัน 6% พร้อมทุ่มลงทุนไอที-ดิจิทัลปีนี้ 1.1 หมื่นล้าน ยกระดับดิจิทัล

       ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่อันดับ 5 ของประเทศไทย และมีรากฐานที่แข็งแกร่งที่สุดแบงก์หนึ่ง เพราะมีบริษัทแม่ คือ "มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป(MUFG)เป็น 1 ในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

      ล่าสุดธนาคาร ประกาศแผนธุรกิจปี   2566 เน้นให้ความสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ทั้งในองค์กรตลอดจนพันธมิตรและลูกค้า 
 

        นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)กล่าวว่า ภายใต้แผนการดำเนินธุรกิจ ปี2566 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนระยะกลางของธนาคาร 3 ปี(2564-2566) โดยจะขับเคลื่อนผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ  

      ยุทธศาสตร์แรก  การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดลESG(ESG-Linked Business) เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทย รวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน  สินเชื่อสีเขียว โดยมีเป้าหมายเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (ESG) แตะ100,000 ล้านบาทภายในปี2573

  ยุทธศาสตร์ที่ 2  คือการขยายธุรกิจในประเทศอาเซียน  ซึ่งตั้งเป้าการเติบโตในด้านรายได้จากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนให้เพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบันที่ 6% รวมถึงการขยายฐานลูกค้าในอาเซียนให้มากกว่า 5 แสนคน

       โดยไตรมาส 1-2 ปี2566 นี้เตรียมขยายธุรกิจไปใน 3 ประเทศใหม่ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย หลังจากธนาคารเข้าซื้อกิจการในธุรกิจโฮมเครดิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอหน่วยงานกำกับในต่างประเทศอนุมัติใบอนุญาต(ไลเซนส์)

       ทั้งนี้การขยายธุรกิจไปใน 3ประเทศดังกล่าว จะส่งผลให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจ “คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์”หรือธุรกิจรายย่อยได้ค่อนข้างมาก จึงเป็นส่วนสำคัญที่หนุนรายได้ในประเทศอาเซียนของธนาคารให้เติบโตขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต

      นายเซอิจิโระ กล่าวว่า  สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3  คือการรุกการเติบโตด้วยดิจิทัล  ซึ่ง ธนาคารตั้งเป้าลงทุนด้านไอที นวัตกรรม และยกระดับดิจิทัล ปีนี้ มูลค่า 10,000-11,000 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น จากปีก่อนที่ 7,000 ล้านบาท จะช่วยยกระดับแบงก์ให้เติบโตและขยายฐานลูกค้า  รวมถึงยกระดับแบงก์ไปสู่ดิจิทัล  เพื่อลดระบบขัดข้องทางดิจิทัล

      โดยอัตราการขัดข้องของระบบดิจิทัลปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3 ครั้ง จากปีก่อนหน้าที่ 6 ครั้ง สะท้อนการยกระดับด้านดิจิทัลของธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น 

      “ยุทธศาสตร์สำคัญของธนาคาร คือเติบโตในอาเซียน ภายใต้การจับมือกับ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ และMUFG  ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของกรุงศรีให้มากขึ้น เพราะมองว่า หลายประเทศในอาเซียนยังเติบโตได้อีกมาก และกรุงศรีเองก็มีจุดแข็ง ที่โตผ่านเรียลบิสสิเนส ทั้งคอนซูมเมอร์ ที่อัปเกรดจากธุรกิจรายย่อย”

      นายเซอิจิโระ กล่าวว่า เป้าหมายทางธุรกิจปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไม่ให้เกิน 2.5-2.6% โดยเพิ่มขึ้นหากเทียบกับ 2.3%ปีก่อน แม้จะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังต่ำกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม

      โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะทยอยหมดอายุลง ทำให้แนวโน้มหนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกำไรแบงก์ เนื่องจากสำรองของธนาคารค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีการตั้งสำรองส่วนเกินไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมาถึง 167%

      ส่วนการบริหารหนี้เสีย ที่ผ่านมาธนาคารมีการตัดขายหนี้เสียออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น หากเทียบกับ 1-2ปีที่ผ่านมา ที่ขายอยู่ที่ 1,000-3,000 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารจะสามารถบริหารจัดการหนี้เสียได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)

       ทั้งนี้ การเติบโตสินเชื่อ คาดว่าจะอยู่ที่ 3-5% จากปีก่อนที่เติบโตระดับ 3% ซึ่งเป็นการเติบโตจากการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร (NIM) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากระดับเดิมที่ 3.45%

      ส่วนประเด็น ของบริษัทมอร์ รีเทิร์น จำกัด( MORE) มูลค่าเสียหายอยู่ที่ 898 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองไปแล้วเต็ม 100% ดังนั้นเชื่อว่าประเด็น MORE จะไม่ย้อนกลับมากระทบธนาคาร และหลังจากนี้ จะเป็นไปตามกระบวนการต่างๆ ตามกฎหมาย และหากสามารถได้เงินชดเชยกลับมา เชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนที่อัปไซต์กลับมาที่ผลประกอบการธนาคารในอนาคต