คลังเผยมิจฉาชีพหลอกลวงโอนเงินเข้าบัญชีเฉลี่ยกว่า800รายต่อวัน
คลังเผยสถิติมิจฉาชีพหลอกประชาชนเฉลี่ยวันละกว่า 800 ราย ธปท.-ดีอีเอส หารือแนวป้องกัน ย้ำอย่าหลงเชื่ออ้างเจ้าหน้าที่กรมภาษี ยันไม่มีนโยบายให้โทรสายตรง ด้านกรุงไทยชี้เป๋าตังระบบความปลอดภัยมาตรฐานโลก รับหลอกเงินในบัญชีกระทบกับเชื่อมั่นธุรกิจทางการเงิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบสถิติจำนวนบัญชีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงอยู่ในคดีเฉลี่ยถึงวันละ 800 ราย ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดีอีเอส ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางป้องกันมิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีธนาคาร
ทั้งนี้ ธปท.จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ในระบบสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การเปิดบัญชี และการตรวจสอบข้อมูลระหว่างการโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง ส่วนสถาบันการเงินของรัฐ ได้สั่งการให้เข้มงวด และมีการประชาสัมพันธ์ให้มาก
“เรื่องนี้ไม่สามารถทำอะไรก่อนได้ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของบัญชีจะต้องมีความระวังให้มากที่สุด โดยอย่าหลงเชื่อข้อความใดๆ แม้กระทั่งโทรศัพท์ที่มีเบอร์แปลกโทรเข้ามา และพยายามขู่เข็นให้ท่านต้องเร่งทำธุรกรรม เป็นต้น ส่วนผู้ที่โดนมิจฉาชีพหลอกลวง ขั้นตอนแรกจะต้องไปดำเนินการแจ้งความก่อน เพื่อดำเนินการให้มีหลักฐาน และประสานกับทางธนาคารเจ้าของบัญชี”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเองก็โดนมิจฉาชีพใช้ชื่อแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร โดยยืนยันว่าทุกกรมภาษี ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรหาประชาชน และผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ฉะนั้น ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบข้อมูลจากทางเบอร์ติดต่อของหน่วยงาน และขอความร่วมมือประชาชน อย่าหลงเชื่อ ขอให้ตรวจสอบจากทางเบอร์ติดต่อของกรมต่างๆ ก่อน
นายอาคมยังกล่าวถึงความร่วมมือการให้บริการรับชำระเงินสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังว่า ในปัจจุบันมีผู้ใช้ในแอพเป๋าตังอยู่แล้วกว่า 40 ล้านคน และมีความมั่งคงปลอดภัยสูง ดังนั้น กอช.จึง ใช้ช่องทางนี้ ในส่งเสริมให้สมาชิก กอช. ได้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นและจูงใจให้ประชาชนแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สำหรับ โมบายแบงกิ้ง ของ กรุงไทย รวมถึง แอพพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ใช้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด ยืนยันว่า เป็นไปตามมาตรฐานโลก ทั้งนี้ ขอเพิ่มความรู้ความเข้าใจว่า ธนาคารมีการกดยินยอม ส่งชื่อผู้ใช้ และ รหัสผ่าน ของลูกค้าและประชาชน ดังนั้น ขอให้ระมัดระวังอย่างมาก
กรณึมิจฉาชีพเกิดการโจรกรรมเกิดขึ้นรายวันนั้น กระทบกับกับความเชื่อมั่นของธุรกิจทางการเงินอยู่แล้วเริ่มตั้งแต่การใช้การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้ระบบสื่อสาร ดังนั้น ขั้นสุดท้ายคือยับยั้ง แต่ด้วยระบบปัจจุบันที่มีการทำธุรกรรมข้ามธนาคาร ซึ่งกฎหมายเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ไม่สามารถยับยั้งได้เร็วอย่างที่ควร
ขณะนี้ เข้าใจว่า ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้กำลัง ออก พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ฉบับใหม่มาเร็วๆนี้ ทำให้ก้าวผ่านข้อจำกัด และทำให้สามารถเข้าไปดูข้อมูลที่เสี่ยงเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามธนาคาร เพื่อให้ธนาคารต่างๆ ดำเนินการป้องกันได้ทันที