“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้เรื่อง “ภาษี” คำนวณแบบไหน ยื่นอย่างไร? เช็กที่นี่
“แม่ค้าออนไลน์” ต้องรู้วิธีคำนวณ “ภาษี” และการจัดการรายได้ ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ต้นทุนต่างๆ อาจดูน่าปวดหัวแต่จริงๆ แล้วไม่ยากอย่างที่คิด หากรู้จักวางแผน และจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายอย่างครบถ้วน
"แม่ค้าออนไลน์" เป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงแซงโค้งมากที่สุดในช่วงโควิดที่ผ่านมา สร้างรายได้ดีจนมนุษย์ออฟฟิศบางคนหันมายึดเป็นอาชีพหลักเลยก็มี และเนื่องจากรายได้ที่เข้ามาถี่ๆ แน่นอนว่าสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ภาษี” ที่ตามมา
กรุงเทพธุรกิจ ชวนทำความเข้าใจ และรู้ถึงขั้นตอนการยื่นแบบภาษีสำหรับแม่ค้าออนไลน์ ต้องทำอย่างไรบ้าง? โดยมีข้อมูลจาก “กรมสรรพากร” มาไขข้อข้องใจให้หายสงสัย ดังนี้
- ภาษีอะไรบ้างที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรับผิดชอบ
บุคคลธรรมดาที่เป็น “แม่ค้าออนไลน์” ถือเป็นบุคคลที่มีเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(8) คือ เงินที่ได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรืออื่นๆ ที่ระบุไว้ตามมาตรา 40(1) - (7) จึงต้องมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องกับแม่ค้าออนไลน์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขายของออนไลน์' มียอดขายเท่าไร ถึงต้อง 'ยื่นภาษี' ?
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.)
คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สถานะ ได้แก่
1.1) สถานภาพโสด หากมีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์เกิน 60,000 บาท ต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.2) สถานภาพสมรส หากมีรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์เกิน 120,000 บาท ต่อปีซึ่งรวมกับรายได้ของคู่สมรสเเล้ว จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถคำนวณได้ ดังนี้
รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จากนั้นนำเงินได้สุทธิ × อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ร้านค้าออนไลน์มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยสามารถคำนวณได้ ดังนี้
รายได้ - ค่าใช้จ่าย = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรณีแม่ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ ซึ่งไม่รวมกับกำไร เกินมูลค่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้อง “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ซึ่งต้องจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และในปัจจุบันคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 7%
4. ภาษี E-Payment เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากร คือ
4.1) ต้องมีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี (ไม่ดูจำนวนเงิน)
4.2) มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และจำนวนเงินรวมเกินสองล้านบาท (นับเฉพาะเงินรับฝากเข้า)
ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร หากบัญชีนั้นๆ มีเงินฝากเข้าตามเงื่อนไขดังกล่าว พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จึงต้องเตรียมรับมือกับข้อมูล “รายได้” ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย
- การ "ยื่นแบบภาษี" ต้องยื่นช่วงเวลาไหนดี?
การยื่นแบบภาษี มีระยะเวลาที่ทางกฎหมายได้กำหนดเอาไว้โดยชัดเจน ซึ่งการยื่นแบบภาษีสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. การยื่นภาษีแบบครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) สามารถยื่นได้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน ของทุกปี โดยคิดรายได้การยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน มาแสดงในการยื่นภาษี และต้องยื่นภายในวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีนั้น
2. การยื่นภาษีแบบปลายปี (ภ.ง.ด.90) สามารถยื่นได้ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี โดยคิดรายได้การยื่นภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม มาแสดงในการยื่นภาษี และต้องยื่นภายในวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
หากแม่ค้าออนไลน์ไม่เสียภาษีให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ถือว่ามีความผิดทางแพ่ง และทางอาญาด้วย ซึ่งอัตราการคิดค่าปรับหากไม่ยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด มีอัตราดังต่อไปนี้
1. อัตราค่าปรับแบบ 7 วัน มีค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 100 บาท
2. อัตราค่าปรับแบบเกิน 7 วัน มีค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 200 บาท และอาจต้องเสียภาษีเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน
- "แม่ค้าออนไลน์" ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการยื่นภาษี
ในโลกของการขายออนไลน์นั้น หากมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของร้าน ก็ควรขอใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษีทุกครั้ง รวมทั้งเก็บเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแก่กรมสรรพากร และควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทราบรายละเอียดว่าร้านของเรามี รายได้ รายจ่าย กำไร เเละต้นทุน อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งรวมถึงเอกสารต่อไปนี้
1. รายการเดินบัญชีธนาคารที่ใช้
2. รายการใบสั่งซื้อสินค้าต่างๆ หรือใบบันทึกที่ทางร้านทำไว้ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้เรียบร้อย
3. บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)
- ค่าใช้จ่าย = ต้นทุน และทำความเข้าใจ "ค่าลดหย่อน"
นอกจากนี้แม่ค้าออนไลน์ต้องทำความเข้าใจว่า ต้นทุน=ค่าใช้จ่าย ก่อนการเสียภาษีเเต่ละครั้งเราต้องหักค่าใช้จ่ายออกจากรายได้ ก่อนที่จะนำมาคำนวณรายได้สุทธิ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่านี้สามารถเลือกหักได้ 2 แบบ คือ
- การหักค่าใช้จ่ายตามจริง ในกรณีนี้จะต้องจัดเก็บรวบรวม บัญชีรายรับ-รายจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบเมื่อต้องยื่นภาษี (แนะนำสำหรับธุรกิจที่มีต้นทุนสูง)
- การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (แนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้นทุนไม่สูง)
ส่วนสิ่งที่เรียกว่า "ค่าลดหย่อนภาษี" นั้น ก็คือ รายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กรมสรรพากรประกาศให้นำมาหักลบกับรายได้ เพื่อให้เราสามารถคำนวณรายได้สุทธิออกมาได้ และนำไปเปรียบเทียบกับภาษีอีกครั้งหนึ่ง หรือที่มักจะได้ยินกันว่าการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งแน่นอนว่าค่าลดหย่อน จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
- ขั้นตอนง่ายๆ ในการยื่นจ่ายภาษี
- ตรวจดูต้นทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ว่า ใช้ต้นทุนเป็นจำนวนเงินเท่าไร
- เมื่อถึงสิ้นปี ให้สรุปว่ามีค่าใช้จ่ายในปริมาณเท่าไร (หากมีต้นทุนที่สูงให้เลือกเป็นการหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่หากธุรกิจมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก ให้เลือกการหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา)
- เขียนรายการค่าลดหย่อนต่างๆ ที่สามารถนำมาหักลบได้
- จากนั้น จะเป็นการคำนวณภาษี คือ การนำ รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน นำมา * อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย >> ตรงนี้ฝากปรับใหม่เหมือนข้างบนจ้า
- เมื่อทราบอัตราภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว สามารถยื่นจ่ายภาษีได้เลย
โดยสามารถยื่นแบบภาษี และหากมียอดจ่ายภาษีก็สามารถชำระภาษีได้ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้
- การยื่นแบบออนไลน์ด้วยตนเอง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
- ยื่นที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่
- ยื่นผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax
- ข้อสงสัยยอดฮิตเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุน
นอกจากข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลค่าการยื่นภาษีที่เหล่าแม่ค้าออนไลน์ต้องรับผิดชอบแล้ว คำถามใน 3 กรณีต่อไปนี้ ก็เป็นที่น่าสงสัยไม่เเพ้กัน ได้แก่
- กรณีที่ลดราคาสินค้าให้ลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ราคาขายจริง 100 บาท แต่ลดราคาให้ลูกค้า และขายไปในราคา 80 บาท จะต้องยื่นภาษีในราคา 80 บาทซึ่งเป็นจำนวนเงินหลังหักส่วนลดเรียบร้อยแล้ว
- กรณีที่ต้องคิดค่าบริการขนส่งกับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น ราคาขายสินค้าจริง 100 บาท และเรียกเก็บเงินค่าบริการขนส่งกับลูกค้าอีก 50 บาท รวมเป็น 150 บาท จะต้องยื่นภาษีในราคา 150 บาท
- กรณีที่ต้องจ่ายค่าบริการให้แพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่น ขายสินค้าในแพลตฟอร์ม xx และมีค่าบริการให้แพลตฟอร์ม 100 บาท ในกรณีนี้ไม่สามารถนำค่าบริการแพลตฟอร์มมายื่น เพื่อหักในค่าใช้จ่ายภาษีได้
ดังนั้นแล้ว ทางที่ดีแม่ค้าออนไลน์ควรเตรียมตัว และวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้สามารถจัดทำบัญชี ก่อนที่จะถึงเวลายื่นแบบภาษีในแต่ละครั้ง เป็นการป้องกันข้อผิดพลาด และเพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงทุน และกระทบต่อเงินในกระเป๋านั่นเอง
------------------------------------
อ้างอิง : iPac4Noayr, krungsri-the-coach
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์