ค่าเงินบาทเปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ ฟันด์โฟลว์ไหลออก
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทยังอ่อนค่าระยะสั้น ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ระวังความผันผวนตลาดการเงิน ช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE มอง กรอบเงินบาทวันนี้ 34.55-34.80 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 ก.พ.) ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.80 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ
เราประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ (อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะเลิกหรือคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด) ทำให้ เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways และอาจเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนราคาที่ ผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) รอทยอยขายทำกำไรอยู่
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ ตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดและกลับเร่งตัวขึ้น เราประเมินว่า ตลาดอาจกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก แต่เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจจะไม่มาก หลังตลาดเริ่มทำใจกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า ตั้งแต่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนหน้ามาสักพักแล้ว ในทางกลับกัน หากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้ ตลาดคลายกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้างซึ่งในภาพดังกล่าวอาจเห็นเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบแนวรับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้
อนึ่งในระยะสั้น เรามองว่า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินในช่วงนี้ได้
ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรก ตลาดยังคงเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานยังคงออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ จากแรงหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มSemiconductor หลัง Nvidia (ราคาหุ้น +14%) รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด พร้อมทั้งปรับคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตดีขึ้นมาก ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.72% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด+0.53%
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.89% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ที่จะรับรู้ในวันนี้ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะการถือครองบอนด์ที่ชัดเจน ตามมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อไป นอกจากนี้ เรามองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นส่วนหนึ่งมาจากการทยอยเข้าซื้อบอนด์ (Buy on Dip) ของผู้เล่นในตลาด ซึ่งยังคงมีมุมมองว่า ต่อให้เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ 2-3 ครั้ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเสี่ยงชะลอตัวลงหนักในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งบอนด์ยีลด์ระยะยาวก็อาจปรับตัวลดลง จากระดับปัจจุบันได้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้เราคาดว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำจะยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นข้อมูลด้านเงินเฟ้อที่เฟดให้คงามสำคัญ โดยตลาดจะรอลุ้นว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคการบริการที่ไม่รวมที่พักอาศัย (Core PCE Services ex. housing) จะส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อ หรือ กลับมาเร่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยของเฟดได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะขึ้นไปถึงระดับใด
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว เรามองว่า ในระยะสั้นควรจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมาร้อนแรงได้ (รัสเซียอาจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกรอบ)