“เวียดนาม”เผชิญวิกฤตหนัก เสี่ยงฟองสบู่อสังหาฯแตก
กูรูด้านเศรษฐกิจมองปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม ส่อเค้าเสี่ยงวิกฤตฟองสบู่ลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นในตลาดทุน ขณะที่ ภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนามที่มียอดการส่งออกสัดส่วนถึง 110%ของจีดีพีอาจได้รับผลกระทบหนัก หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
แม้เศรษฐกิจของเวียดนามมีอัตราการเติบโตสูงระดับ 6-7% ต่อปี จะดึงดูดให้นักลงทุนไปตั้งฐานการผลิตในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวียดนาม โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลค่าเงิน การขาดสภาพคล่องในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า อาจก่อให้เกิดวิกฤตฟองสบู่แตกที่จะลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่นในตลาดเงินและตลาดทุน
Key point :หวั่นวิกฤตธุรกิจอสังหาฯก่อฟองสบู่แตก
:ต้นทุนการเงินสูงกระทบการชำระหนี้
:ชี้การลงทุนในตลาดทุนยังมีความเสี่ยง
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ DEEP TALK ของกรุงเทพธุรกิจ ถึงมุมมองต่อกรณีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศเวียดนามในขณะนี้ โดยระบุว่า ประเด็นปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทขนาดใหญ่ในเวียดนามกำลังเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งกดดันทั้งตัวตลาดหุ้นกู้และตลาดหุ้นของเวียดนามในขณะนี้ โดยปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นสะท้อนได้จากความไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ให้แก่ผู้ลงทุนได้ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการชำระคืนหุ้นกู้
“ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมาถึงปลายเดือนม.ค.นี้ มีธุรกิจประมาณ 54 บริษัทที่ออกหุ้นกู้ โดยครึ่งหนึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯก็มีการเรียกร้องให้ผ่อนคลายมาตรการ 65 โดยบอกว่า ถ้าผู้ถือหุ้นกู้ 65% อนุมัติ เขาจะขอเลื่อนการไถ่ถอนออกไป 2 ปี หรือ จ่ายคืนดอกเบี้ยหรือเงินต้นในรูปที่ไม่ใช่เงินสด แต่เป็นเพียงข้อเรียกร้อง โดยกรอบเวลาที่จะพิจารณาผ่อนคลายจะทำให้เสร็จมิ.ย.ปีนี้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า จะแล้วเสร็จหรือไม่”
ทั้งนี้ ในแง่ความเสี่ยงลุกลามในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เขากล่าวว่า เท่าที่เราดูพบว่า เขามีปัญหาระดับหนึ่ง โดยสินเชื่อที่ปล่อยให้ภาค อสังหาฯและธุรกิจเกี่ยวเนื่องนั้น มี สัดส่วนประมาณ 20% และภาคอสังหาฯมีการจ้างงานราว 10% ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะที่ ภาคอสังหาฯคิดเป็น 16% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นเวียดนาม ฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นว่า ถ้ากลุ่มนี้มีปัญหา นอกจากจะกระทบเซ็คเตอร์เขาเองแล้ว ก็จะเริ่มมีผลต่อเซ็คเตอร์อื่นๆด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อดูความแข็งแกร่งภาคธนาคารในเวียดนามพบว่า ขณะนี้ ระดับหนี้เสียอยู่ที่ 1.7-1.8% ของสินเชื่อรวม ก็ไม่ได้สูงมาก แต่ถ้ารวมหนี้เสียที่อยู่ในบริษัทจัดการสินทรัพย์และหนี้ที่ปรับโครงสร้างในช่วงโควิด ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 3% กว่าๆ ก็ยังเป็นระดับที่จัดการได้ ซึ่งเรามองประเด็นปัญหาอยู่ที่เรื่องของลักษณะเฉพาะบริษัท แต่เมื่อมีความเสี่ยงรายบริษัทเข้ามา ความกังวลอาจกลายเป็นแพนิคหรือไม่ ซึ่งอยู่ที่ว่า ทางการเวียดนามเขาจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร
“ถามว่า ถ้าเกิดวิกฤตจริง และรัฐบาลต้องเข้าไปอุ้ม รัฐบาลมีหน้าตักอุ้มได้ไหม ขณะนี้ หนี้สาธารณะของเวียดนามอยู่ที่ 39% ของจีดีพี ก็น่าจะมีโอกาสที่จะช่วยได้ แต่อุ้มแล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตามดูอีกที แต่ถ้าเทียบกับบ้านเราช่วงต้มยำกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยน ดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึง สุขภาพการเงินการธนาคาร คิดว่า ถ้าจะมีปัญหาจริงๆ โอกาสจะเกิดวิกฤตรุนแรงเท่ากับบ้านเรา น่าจะค่อนข้างน้อย”
เขากล่าวด้วยว่า หากมองผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น คิดว่า สัญญาณในลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่ไม่ดี เพราะธุรกิจอสังหาฯมีสัดส่วนถึง 16% ในมาร์เก็ตแคปตลาด ถ้าจะลามมาภาคธนาคารก็อาจกระทบต่อบางแบงก์ที่มีปล่อยสินเชื่อสูง แต่ก็อาจลามไปแบงก์อื่นด้วย โดยกลุ่มแบงก์มีมาร์เก็ตแคปราว 37% เมื่อรวม 2 เซ็คเตอร์แล้วจะมีสัดส่วนถึง 53% ของมาร์เก็ตแคปแล้ว ฉะนั้น ในแง่ตลาดหุ้นนั้น เป็นอะไรที่กดดัน ถ้าประเมินสถานการณ์ตอนนี้ เรายังมองเรื่องของอสังหาฯเป็นกรณีเฉพาะเจาะจงอยู่
เขากล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามด้วยว่า แม้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ดี แต่เหตุการณ์หลังโควิดนั้น เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย เวียดนามก็ขึ้นดอกเบี้ยตาม ทำให้ต้นทุนการเงินของเวียดนามสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาเงินเฟ้อสูงและเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศไม่แข็งแรง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศลงค่อนข้างเร็ว จึงทำให้ค่าเงินอ่อนเร็วในครึ่งหลังของปีก่อน ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างมากจาก 4 เป็น 6% ภายในหนึ่งไตรมาส ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านก็ขยับมาเป็น 13-15% ฉะนั้น ในภาวะที่ดอกเบี้ยขึ้นเร็วและสูง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในบางภาคได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ
นอกจาก ปัจจัยเรื่องของต้นทุนการเงินที่สูงกระทบธุรกิจอสังหาฯแล้ว ยังมีอีก 2 ปัจจัย คือ การเข้ามาควบคุมของรัฐที่มีปัญหาเรื่องการปราบคอร์รัปชัน ทำให้บริษัทอสังหาฯก็ได้รับผลกระทบไปด้วย และ การควบคุมของรัฐโดยตรงในการที่จะพยายามไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในเวียดนาม
“การควบคุมของรัฐที่พยายามไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ ในระยะแรกได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยกู้ภาคธุรกิจดังกล่าว ก็มีคนเชื่อและไม่เชื่อ โดยฝั่งบริษัทที่ไม่เชื่อก็ไปออกหุ้นกู้เอง รัฐก็ออกมาตรการอีก เรียกว่า มาตรการ 65 ก็เข้ามาควบคุมการออกและซื้อหุ้นกู้ ซึ่งเข้มงวดมาก ก็ส่งผลให้มีบริษัทไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้"
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินกล่าวเสริมว่า แม้เศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ แต่เรายังมองว่า การเติบโตดังกล่าวก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน เพราะเวียดนามเองยังไม่ผ่านการถูกทดสอบในการแก้ไขปัญหาวิกฤตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย ตลาดการเงิน และ ภาคธนาคาร ซึ่งไทยผ่านมาหมดแล้ว แต่เวียดนามยังมีหลายจุดต้องระวัง
ทั้งนี้ เรามองความเสี่ยงของเวียดนามมี 2 จุดใหญ่ คือ 1.เรื่องของการส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 110% ของจีดีพี แต่นำเข้าก็เกือบเท่าจีดีพีเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เวียดนามก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย และ 2.ปัญหาในสถาบันการเงิน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ หนี้ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งคำถามว่า ปัญหาที่เกิดในเวียดนามจะเหมือนไทยในปี 2540 หรือไม่ ซึ่งเขากล่าว่า เศรษฐกิจเวียดนามขณะนี้ มีหลายส่วนคล้ายไทยในช่วงก่อนวิกฤต ทั้งเศรษฐกิจที่โตเร็ว คนรวยเกิดขึ้นเร็ว มีการเก็งกำไรในอสังหาฯ และปล่อยกู้อสังหาฯมาก แต่จุดที่ทำให้ไทยเกิดวิกฤต คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะช่วงนั้น ปัญหาคือเราลงทุนเยอะ แต่เวียดนามเขาก็ขาดดุลไม่มาก ความเสี่ยงน้อยกว่าไทย แต่ก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะเวียดนามก็หนี้ต่างประเทศและแรงกดดันต่อค่าเงินก็มี
นอกจากนี้ จุดที่น่ากังวล คือ คุณภาพสินทรัพย์ในการปล่อยกู้ และการลงทุนเกินขนาดมากเกินไป ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญ