ซุปเปอร์ริชสีส้ม ทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล บริการแลกเงินผ่านวอลเล็ตไตรมาส3/66
หากย้อนกลับในช่วงวิกฤติโควิดแพร่ระบาดยาวนานถึง3ปี หลายธุรกิจถูกกระทบไปตามๆกัน “ล้มหาย”ไปก็มาก แต่ก็มีบางธุรกิจก็พยายามประคับประคองตัว จน”รอดพ้น” มาได้ ในปีนี้เตรียม”พลิกฟื้นธุรกิจ”เต็มกำลัง หนึ่งในธุรกิจเหล่านี้ คือ “ธุรกิจร้านแลกเงิน”
"ปิยะ ตันติเวชยานนท์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์(1965) จำกัด (ซุปเปอร์ริชสีส้ม) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ในช่วงวิกฤติโควิด เรายื้อสุดๆ จนในช่วงปลายปีก่อนทุกอย่างก็เริ่มฟื้นตัวและทำให้สามารถกลับมามีกำไรได้แล้ว
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในระยะ 3 ปี ( 2566-2568) เพื่อฟื้นธุรกิจ และเรียกความเชื่อมั่นแบรนด์ซุปเปอร์ริชสีส้มกลับมา พร้อมกับการทรานฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตใหม่ในระยะข้างหน้า
โดยวางเป้าหมายทางด้านรายได้ และปริมาณยอดแลกเงินกลับมาเติบโต 20%ต่อปี ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.มุ่งการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เพื่อเป็นผู้นำทางด้าน “new innovation Financial technology” ที่จะทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เราหวังเป็นผู้ตามเทรนด์นวัตกรรมต่างๆ มากกว่าเป็นแค่ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจนี้เท่านั้น
ล่าสุดอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมระบบ กระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ E-wallet เพื่อเปิดให้บริการอัตราแลกเปลี่ยนผ่านวอลเล็ต เช่นเดียวกับการให้บริการธุรกิจการโอนเงินไปต่างประเทศ (money transfer) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนโอนเงินไปต่างประเทศ
โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตมันนี่ทรานเฟอร์แล้ว จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าจะเริ่มให้บริการในไตรมาส3 นี้ ซึ่งจะเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ คนรุ่นใหม่อายุ25-30ปี หลังจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของเรา เป็นคนค่อนข้างมีอายุ40-50ปี และช่วยลดปัญหาโพ้ยก๊วนต่างๆ ในระยะข้างหน้าไปพร้อมกันนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาณยอดแลกเงินโดยรวม
2. กลับมาเปิดสาขา ทั้งสาขาบนสถานีรถไฟฟ้า(บีทีเอส) เพิ่ม 6-8 สาขาในปีนี้ จากปัจจุบันเหลือเพียงสาขาเดียวบนสถานีรถไฟฟ้าอโศก รวมถึงขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้า และตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในกรุงเทพฯเป็นหลักที่เคยเป็นพื้นที่สาขาทำกำไรในอดีตมาก่อน อีกราว 5-7 สาขา รวมเป็น 19 สาขาในปีนี้ จากปัจจุบันมี 12-14 สาขา ขณะนี้เราได้มีการเซ็นสัญญาเปิดสาขาในหลายพื้นที่เป้าหมายไว้พร้อมแล้ว
นอกจากนี้ช่วงระยะสั้นเตรียมกลับมาทำการตลาดเต็มที่อีกครั้ง เพื่อรีแบรนด์ซุปเปอร์ริชสีส้ม และเรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง รวมถึงอัดโปรโมชั่นต่างๆและที่สำคัญหลังจากที่ได้นำระบบเอไอและดาต้าอนาไลติกมาใช้ ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าได้แล้วและอยู่ระหว่างการขึ้นระบบเกี่ยวกับ PDPA ของลูกค้าให้ลูกค้ายินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้เรานำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมและทำการการส่งแคมเปญพิเศษ เช่น อัตราแลกเงินเรตพิเศษที่ตรงกับความต้องการลูกค้าแต่ละบุคคลได้อีกด้วย
และสุดท้าย 3.สร้างพนักงานแลกเงินกลุ่มใหม่ที่มีความชำนาญในแบบฉบับของเราเองเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอรองรับทั้งคนไทยที่ออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อย่างคึกคัก โดยตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจนถึงต้นปีมานี้ เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
ส่งผลให้ยอดแลกเงินต่อรายต่อเดือน โดยรวมปัจจุบันฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับ 60%แล้ว หรือ 6,000 -7,000 ล้านบาทต่อเดือน จากก่อนเกิดโควิด-19 หรือปกติเคยมียอดแลกเงินแตะระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ายอดแลกเงินคงไม่กลับไปที่100% เพราะว่าหลังโควิดคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทั้งแลกเงินและใช้จ่ายเงินบนแอปพลิเคชั่นบนมือมากขึ้น
ส่วนแผนพัฒนาเงินดิจิทัลของเรายังเตรียมไว้และจะนำมาทบทวนหากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
นอกจากนี้บริษัทได้เปิดกว้างในการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกับเรา โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ๆ และการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศ ภายใต้ใบอนุญาตที่เรามีอยู่แล้ว
“ขณะนี้มีต่างชาติ 2-3 ราย ติดต่อขอเจรจาร่วมทุน คาดว่า ต้องเจรจาช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ หากมีความชัดเจนพร้อมจะเปิดเผยทันที เพราะในโลกการเงินทุกวันนี้เจอดิสรัปต์หนักขึ้น และแข่งขันกันไม่แต่กับแบงก์หรือนอนแบงก์ในบ้านเราเท่านั้นแต่การแข่งขันมาจากทั่วโลกและทุกธุรกิจใครก็สามารถทำได้หากตามเทคโนโลยีได้ทัน”
สำหรับก้าวต่อไปหลังจากนี้ “ปิยะ” กล่าวทิ้งท้ายว่า เราจะก้าวอย่างมั่นคงและปลอดภัยต่อไป "ระบบเดิมๆ ด้วยความเป็นตู้แลกเงินสมัยโบราณ รุ่นคุณพ่อ มาถูกเปลี่ยนในรุ่นของผมไปหมดแล้ว เและเรายึดปฏิบัติตามกฎหมายการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด เพราะเราให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน เราอยากจะฝากถึงคนเจนเนอเรชั่นใหม่กำลังเข้าสู่สังคมยุคใหม่ ยังต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมองว่าการแลก “เงินสด” ยังมีความจำเป็นหากมีปัญหาในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน “นวัตกรรมการเงินที่เป็นระบบดิจิทัลและเงินดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทในสังคมยุคใหม่ขึ้นมาก เราก็ต้องเตรียมตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกการเงินยุคใหม่ด้วย