ค่าเงินบาทเปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ จากดอลลาร์แข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ จากดอลลาร์แข็งค่า

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตลาดคาดเฟดจำเป็นเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม หนุนดอลลาร์แข็งค่า ระวังแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยมากขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.35-34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 มี.ค.) ที่ระดับ  35.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ รวมถึงการย่อตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับ คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วทะลุ โซนแนวต้านระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ 

ทำให้ในส่วนของแนวโน้มเงินบาทในวันนี้ เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อได้บ้าง โดยเฉพาะหากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Opening) หรือยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP (ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls ในวันศุกร์นี้ได้) ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม (เราคงมองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม แต่คาดการณ์ดอกเบี้ยหรือ Dot Plot จะสูงขึ้นชัดเจน)

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่รุนแรงมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะLong USDTHB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ได้บ้าง ทว่า ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ว่าจะกลับมาขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้น หรือไม่ หลังล่าสุด แรงขายบอนด์และหุ้นไทยเริ่มชะลอลง นอกจากนี้ หากถ้อยแถลงของประธาน ECB ได้เน้นย้ำว่า ECB ก็จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกันกับเฟด ก็อาจช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) มีโอกาสรีบาวด์ แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้น ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้

 

 

ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปีซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ต่างกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น สะท้อนจากการปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้สู่ระดับเกือบ 70% (จากเพียง 30% ในวันก่อนหน้า) และผู้เล่นในตลาดก็มองว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ภายในการประชุมเดือนมิถุนายน  หลัง ประธานเฟด Powell ได้เน้นย้ำว่า ภารกิจคุมอัตราเงินเฟ้อของเฟดยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้และเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งความกังวลว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้กดดันดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า-1.53%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลง -0.77% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -2.7%, Adyen -1.8%

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ระยะสั้น ถึงบอนด์ยีลด์ระยะกลาง ส่วนบอนด์ยีลด์ระยะยาวอย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะที่ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญระดับ 4.00% ก่อนที่จะย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.98% เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนอาจพอใจกับระดับบอนด์ยีลด์ดังกล่าวและอาจต้องการถือบอนด์ในช่วงตลาดผันผวน ทั้งนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อ ในช่วงที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวขึ้น เช่น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับสูงกว่า 4.00% (อาจรอดูการทดสอบจุดสูงสุดในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาแถว 4.20%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ตามภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใสอยู่ ซึ่งล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงแรงและแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญแถว 1,815 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวใกล้โซนแนวรับดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP รวมถึงข้อมูลสำคัญ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ที่ช่วยสะท้อนถึงความต้องการแรงงานในสหรัฐฯ ได้

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสรวมถึงถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั้งเฟดและ ECB ในระยะถัดไป