กรมสรรพากรนำระบบ AI ตรวจสอบภาษีเชิงลึก
กรมสรรพากรเตรียมนำระบบAIร่วมตรวจสอบภาษีเชิงลึก เผยอยู่ระหว่างการทดลองใช้ในแซนด์บ็อกซ์ ระบุ โซเซียลมีเดียเป็นช่องทางที่ระบบAIจะเข้าไปตรวจจับและประเมินรายได้จากการค้าขายผ่านระบบดังกล่าว
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมฯเตรียมนำระบบ AI มาร่วมใช้ในการตรวจสอบภาษี โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองใช้ในแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะทำให้กรมฯได้ข้อมูลของผู้เสียภาษีที่ลึกขึ้นและช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีได้
“ในหลายประเทศได้นำระบบ AI มาใช้ในการตรวจสอบการเสียภาษี ในส่วนของไทยนั้น อยู่ในระหว่างการทดลองใช้ใน Sandbox ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้กรมฯได้ข้อมูลของผู้เสียภาษีที่ลึกขึ้นและช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี”
เขากล่าวว่า ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทในการสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึง การค้าขาย ซึ่งระบบAI สามารถเข้าไปตรวจสอบว่าผู้เสียภาษีรายนั้นๆ มีการโพสต์เพื่อค้าขายอะไรบ้าง และสามารถเชื่อมโยงไปถึงรายรับของผู้ค้าได้
ทั้งนี้ ในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากร ได้นำระบบ e-tax มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบเสียภาษีทุกประเภท ผ่าน e-filing การตรวจสอบข้อมูลภาษีของตนเองผ่านMy Tax Account การหักภาษี ณ ที่จ่ายผ่าน e-withholding tax และระบบ e-Tax Invoice และe-Receipt เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากร จะอัพเกรดระบบ เพื่อดึงคนเข้าระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง ที่จำนวนมากอยากเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง แต่มีปัญหาความยุ่งยากในการทำระบบบัญชีและภาษี ซึ่งกรมฯก็จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง ให้สามารถยื่นภาษีได้ถูกต้อง ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดและถูกเก็บภาษีย้อนหลัง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้บริการ Service Provider ที่มี software ด้านภาษีที่ได้รับอนุญาตจากกรมให้เป็นผู้นำส่งภาษีให้กับกรมฯได้
“การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นเสียภาษี จะทำให้ระบบการคืนภาษีสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เป็นระบบที่ใช้คนเป็นผู้ตรวจสอบ อาจใช้เวลาพิจารณาเพื่อคืนภาษีเป็นเดือน แต่เมื่อตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจใช้เวลาเหลือเพียง 7 วันเท่านั้น เป็นต้น”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในปัจจุบันกรมสรรพากรทำการสุ่มตรวจตามหน้าเว็ปไซค์ต่างๆอยู่แล้ว เช่น เฟสบุ๊กที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้าหรือการไลฟ์สดขายของ เป็นต้น เพื่อตรวจสอบว่ารายได้ของบุคคลเหล่านั้นเสียภาษีถูกต้องแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ กรมฯยังใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Web Scraping คือ เทคนิคดึงข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ตามรูปแบบที่กำหนด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ดึงข้อมูลราคาและประเภทสินค้าที่ค้าขายผ่านเว็บไซต์ e-commerce
นอกจากนี้กรมสรรพากร ยังสามารถรู้รายได้ของผู้เสียภาษี จากข้อมูลที่สถาบันการเงิน ต้องนำส่งให้กรมสรรพากรตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่า ให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลบัญชีเงินฝาก ที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปี ให้กับกรมฯและกรณีที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป/ปีแต่มีเงินที่โอนเข้ารวมกันเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็จะต้องนำส่งข้อมูลให้กับกรมฯด้วยโดยข้อมูลที่ส่งให้กับกรมฯ จะทำให้กรมฯรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือไม่