เงินนำไปสู่ความสุขหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

เงินนำไปสู่ความสุขหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อนึกถึงสิ่งที่ทำให้คนมีความสุขเพิ่มขึ้น เงินเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่คนคิดถึง เป็นที่ยอมรับว่าเงินนั้นทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันมากมายว่าการมีเงินนำไปสู่การมีความสุขได้จริงหรือ

ข้อถกเถียงระหว่างเงินกับความสุขถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่อภิปรายกันได้ไม่รู้จบ นักวิชาการจำนวนมากพยายามศึกษาวิจัยเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองปัจจัย ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ออกมาที่หลากหลายและแตกต่างกัน พอจะรวบรวมเป็นประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

1. การมีเงินเพิ่มขึ้นไม่ได้นำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในสหรัฐที่พบว่าแม้ระดับรายได้ของประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับความสุขกลับไม่ได้เพิ่ม เลยนำไปสู่ข้อสรุปว่าการมีเงินเพิ่มขึ้นไม่ได้นำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้น

เงินนำไปสู่ความสุขหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

2.การมีเงินเพิ่มขึ้นนำไปสู่ความสุขที่เพิ่มขึ้น

แต่เมื่อรายได้เพิ่มถึงจุดจุดหนึ่ง ความสุขจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจุดดังกล่าวก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ โดยการศึกษาในปี 2559 ที่เปรียบเทียบจุดดังกล่าวของภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ที่รายได้ 70,000 ดอลลาร์ หรือ 2.4 ล้านบาทต่อปี

3.การมีเงินไม่ได้นำไปสู่ความสุข แต่ความสุขอยู่ที่การได้ใช้เงิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีความสุขมากขึ้นถ้าได้ใช้เงินเพื่อผู้อื่นมากกว่าตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการบริจาค การช่วยเหลือผู้อื่น การซื้อของให้ผู้อื่น

จะทำให้เกิดความสุขใจมากกว่าการซื้อของให้ตนเอง และพบว่าการใช้เงินเพื่อผู้อื่นนั้น จำนวนเงินไม่สำคัญ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ไม่ได้ส่งผลต่อระดับความสุข สำคัญคือของให้ใช้เงินเพื่อผู้อื่น

4.การใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์

จะนำทำให้เกิดความสุขมากกว่าใช้เงินในการซื้อสินค้า การซื้อประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การรับประทานอาหาร การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่นำความสุขมาให้มากกว่าการซื้อสินค้า

เงินนำไปสู่ความสุขหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

5.การมีเงินนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่ม

แต่การมีเงินหรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความสำเร็จในการทำงานหรือการดำรงชีวิต ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งความภูมิใจดังกล่าวเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสุข

6.การมีเงินไม่ได้ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น แต่ทำให้ความเครียดลดลง

เนื่องจากการมีเงิน ทำให้สามารถลดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการดำรงชีวิต รวมทั้งยังทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น เมื่อป่วยก็มีเงินค่ารักษาพยาบาล และถ้ามีเงินมากก็จะช่วยทำให้ได้รับการบริการที่ดีขึ้น ทำให้ลดความเครียด ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

7.การมีเงินมากขึ้น จะทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น

และความสุขจะไม่หยุดลงเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งเหมือนในข้อที่ 2 ซึ่งในประเด็นนี้มาจากงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเป็นข่าวดังไปทั่ว เนื่องจากหนึ่งในทีมผู้ศึกษาเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (Daniel Kahneman)

ผลการศึกษาพบว่า ความสุขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น (ไม่มีจุดที่ความสุขจะไม่เพิ่มอีกต่อไป) จนถึงระดับรายได้ที่ 500,000 ดอลลาร์ หรือ 17.4 ล้านบาทต่อปี (สาเหตุที่หยุดที่ 500,000 ดอลลาร์เนื่องจากไม่มีข้อมูลของกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่านี้)

อย่างไรก็ดี การศึกษาในครั้งนี้ยังพบว่าประมาณ 20% ของกลุ่มตัวอย่างที่ต่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะประสบกับปัญหาอื่นๆ ในชีวิต ที่ทำให้มีเงินเยอะก็ไม่ได้ทำให้มีชีวิตมีความสุข

พอสรุปได้ว่าเงินนั้นมีผลต่อความสุขจริง แต่อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนมีเงินมากขึ้นก็สุขมากขึ้น บางคนขอให้มีถึงระดับหนึ่งก็สุขและเพียงพอแล้ว บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ที่การมีเงิน แต่อยู่ที่การได้ใช้เงิน

ไม่ว่าใช้เงินเพื่อผู้อื่นหรือเพื่อซื้อประสบการณ์ ขณะเดียวกันสำหรับบางคนต่อให้มีเงินมากขึ้น ความทุกข์ก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อความสุขของคน เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยเท่านั้น