บลจ.จิตตะ เวลธ์ ชี้ เครดิตสวิส ล้ม กระทบเศรษฐกิจโลก แนะจับตาแนวทางแก้ปัญหา

บลจ.จิตตะ เวลธ์ ชี้ เครดิตสวิส ล้ม กระทบเศรษฐกิจโลก แนะจับตาแนวทางแก้ปัญหา

บลจ.จิตตะ เวลธ์ ชี้ Credit Suisse เป็นแบงก์ใหญ่ หากปล่อยให้ล้ม ย่อมกระทบเศรษฐกิจโลก เชื่อหากภาครัฐช่วยสร้างความมั่นใจผู้ฝาก จะรักษาเสถียรภาพระบบธนาคารได้ ขณะที่สถานะการเงินยังแกร่ง ฐานทุนอยู่ระดับสูง แนะจับตาแนวทางแก้ปัญหา

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์   เปิดเผยว่า การล้มของธนาคารสหรัฐหลายแห่ง เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลก ล่าสุด Credit Suisse ธนาคารชื่อดังระดับโลกจากสวิสถูกนักลงทุนเทขายหุ้น หุ้นร่วงกว่า 24.24% และร่วงกว่า 76.23% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา  หลังจากที่ผู้ถือรายใหญ่ที่สุดอย่าง Saudi National Bankปฏิเสธการเพิ่มทุน สร้างความกังวลให้นักลงทุนที่เพิ่งตื่นตระหนกกับการล้มครืนของธนาคารในสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ Credit Suisse  ประสบปัญหาทั้งเหตุการณ์ปล่อยให้บริษัทยาฟอกเงินในบัลแกเรีย  พัวพันในคดีทุจริตในโมซัมบิก เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสอดแนมอดีตผู้บริหาร ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ Credit Suisse ยังมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิในช่วงปี 2021-2022 ที่ผ่านมา โดยขาดทุน 7,306 ล้านฟรังก์สวิสและ 1,626 ล้านฟรังก์สวิส ตามลำดับ และหากพิจารณางบการเงินของธนาคาร จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินฝากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาส  4 ปี 2022 มีจำนวนเงินฝากอยู่ที่ 234,554 ล้านฟรังก์สวิส ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 393,841 ล้านฟรังก์สวิสหรือลดลงกว่า 40% เป็นอีกหนึ่งจุดที่ลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกนั้น หากปล่อยให้ล้มจะส่งกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารใหญ่ระดับโลก มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 530 พันล้านฟรังก์สวิส หรือ ประมาณ 19.6 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทระดับโลก และกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงที่มีเงินฝากอยู่ใน Credit Suisse เป็นจำนวนมาก  ซึ่งทางธนาคารกลางสวิส ได้ออกมาให้ความมั่นใจกับนักลงทุน และผู้ฝากเงินแล้วว่า หากมีความจำเป็นธนาคารกลางจะเข้าไปช่วยเหลือ Credit Suisse ทันที 

ขณะที่ฟากฝั่งสหรัฐเอง กระทรวงการคลังกำลังตรวจสอบว่าภาคธนาคารสหรัฐ มีธุรกรรมกับ Credit Suisse มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น และติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ทั้งนี้หากวัดผลด้วยค่าความเสี่ยงจาก Credit Default Swap (CDS) ปัจจุบันนักลงทุนมองว่า Credit Suisse มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งสถานการณ์คล้ายกับ Morgan Stanley ในปี 2008 แต่ Morgan Stanley ก็สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวมาได้ และกลายมาเป็นธนาคารที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นโอกาสในการก้าวพ้นความยากลำบากของ Credit Suisse ยังมีอยู่ แต่จะต้องติดตามต่อไปว่าเหตุการณ์จะพัฒนาไปในลักษณะใด รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาของธนาคารเองหรือหน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรด้วย  

​อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือ Credit Suisse ก็อาจจะไม่ใช้งานที่ง่ายนัก เพราะเป็นธนาคารใหญ่มีสินทรัพย์มาก ดังนั้นจะต้องใช้เงินทุนมากระดับหนึ่งในการเข้าไปช่วยอุ้ม 

ซีอีโอจิตตะ เวลธ์ประเมินอีกว่า หากพิจารณาตามอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ Creidt Suisse สามารถรักษาอัตราส่วนตามมาตรฐานสถาบันการเงินโลก  โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CET1 ratio) 14.4% (ขั้นต่ำ 4.5%) เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 ratio)  20.3%  (ขั้นต่ำ 6%) และมีอัตราส่วนเงินทุนโดยรวม (Total capital ratio) 20.5% (ขั้นต่ำ 8%) ดังนั้นหากธนาคารกลางเข้ามาให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงิน จะช่วยรักษาเสถียรภาพของธนาคารได้ ซึ่งในระหว่างนี้ Credit Suisse จะต้องปรับโครงสร้างธนาคาร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ ขายแผนกที่ไม่ทำกำไรออกไปเพื่อสร้างรักษาความมั่นคงในระยะยาว

“ปัจจุบันต้องคงต้องติดตามต่อไปว่า Credit Suisse จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างไร และ ธนาคารกลางจะเข้ามาช่วยเหลือในลักษณะไหน รวมไปถึงผู้ฝากเงินจะยังคงมีความเชื่อมั่นต่อธนาคารหรือไม่”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์