6 ลักษณะ 'ภาษีซื้อต้องห้าม' เช็กให้ชัวร์! ก่อนซื้อของเข้าบริษัท

6 ลักษณะ 'ภาษีซื้อต้องห้าม'  เช็กให้ชัวร์! ก่อนซื้อของเข้าบริษัท

"ภาษีซื้อ" จากการซื้อสินค้าของกิจการ ทราบหรือไม่ว่า มีข้อกำหนดและเงื่อนไขกำกับไว้ว่าสินค้าที่ซื้อลักษณะใดบ้าง สามารถนำมาหักลบจากภาษีขายได้ หรือลักษณะใดไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือเรียกว่า "ภาษีซื้อต้องห้าม"

กระบวนการทำงานของกิจการจดทะเบียนนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อมีการขายหรือบริการเกิดขึ้น ซึ่งในกรณีที่กิจการซื้อข้าวของเครื่องใช้ วัตถุดิบเพื่อใช้ในกิจการ จะต้องขอใบกำกับภาษีจากผู้ขายทุกครั้ง เพื่อนำ "ภาษีซื้อ" มาหักลบกับ "ภาษีขาย" ของกิจการ และจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ภาษีซื้อ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกผู้ประกอบการจดภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นเรียกเก็บจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง โดยภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าของกิจการ จะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขกำกับไว้ว่าสินค้าที่ซื้อลักษณะใดบ้าง สามารถนำมาหักลบจากภาษีขายได้ หรือลักษณะใดไม่สามารถนำมาใช้ได้ หรือเรียกว่า “ภาษีซื้อต้องห้าม” โดยอัพเดตลักษณะภาษีซื้อต้องห้ามได้ดังนี้ 

 

  • ลักษณะภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้

ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่น จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บถือเป็นภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จ่ายไปในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

- ภาษีซื้อที่กฎหมายให้นำมาหักออกจากภาษีขาย หรือ ขอคืนภาษีซื้อได้ ซึ่งต้องเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่น หรือภาษีซื้อที่เกิดจากการนำเข้าสินค้า การรับโอนสินค้านำเข้า การขายทอดตลาดทรัพย์สิน การชำระราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และการรับโอนสินค้าหรือรับโอนสิทธิบริการในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% 

- ภาษีซื้อต้องห้าม เป็นภาษีซื้อที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ โดยได้กำหนดลักษณะภาษีซื้อต้องห้ามไว้ดังนี้

1. ไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีได้

(1) ไม่มีใบกำกับภาษี เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษี หรือออกใบกำกับภาษีแต่ระบุชื่อบุคคลอื่น

(2) มีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เป็นกรณีที่ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจริง แต่ไม่อาจแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากรได้

 

 

2.กรณีใบกำกับภาษีซื้อมีข้อความไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด

ใบกำกับภาษีที่นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อได้ ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและต้องมีข้อความตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หากใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำ หนด ภาษีซื้อนั้นถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม 

3.ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีซื้อที่นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อได้ ต้องเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อกิจการหรือเพื่อหากำไรของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากภาษีซื้อนั้นไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือเพื่อหากำไรของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อนั้นเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ถึงแม้ใบกำกับภาษีจะมีรายการครบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม

4.ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน

ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันที่ไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อได้นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

(1) ค่ารับรองหรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใดๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำนองเดียวกัน

(2) ค่าสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (1) และบุคคลอื่น

5.ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี เป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ ซึ่งผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีประกอบด้วย

(1) บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักร และมีตัวแทนทำการออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินถูกนำ ออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นหรือโดยบุคคลอื่น

6.ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

 

  • ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ มีดังนี้

(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน  

(2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อนำมาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อดังกล่าวให้มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อนั้นเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตั้งแต่ต้น

(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการในใบกำกับภาษีไม่ได้พิมพ์ หรือไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

(6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีข้อความอื่นที่อธิบดีกำ หนดในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

(7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (Copy) เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา มีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย

(8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

(9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

(10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งรายการได้ถูกแก้ไขหรือถูกเปลี่ยนแปลงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

 

  • อัพเดตภาษีซื้อต้องห้ามล่าสุด มีอะไรบ้าง

ล่าสุดกรมสรรพากรได้กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีไว้ดังต่อไปนี้

1.ภาษีซื้อจาการโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของลูกหนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่สามารถนำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 

2.การขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตรีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนของบริษัทหรือห้าหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ไม่สามารถนำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 

 

ทั้งหมดนี้คือภาษีซื้อต้องห้ามที่ผู้ประกอบการธุรกิจทุกประเภท สามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้าและวัตถุดิบเข้าบริษัทโดยไม่สูญเปล่า นำมาหักลบภาษีขาย เครดิตภาษี หรือขอคืนภาษีซื้อได้ ช่วยลดภาษีและเพิ่มกำไรให้กับกิจการ ได้ใช้ประโยชน์ทางภาษีอย่างคุ้มค่า

----------------------------------
Source : Inflow Accounting , บทความ : 
รายงานภาษีซื้อภาษีขาย คืออะไร จำเป็นต้องทำจริงหรือ
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่