หุ้นกู้‘เอที1’เครดิตสวิสป่วน ‘20กองทุน’ไทยถือทางอ้อม
หุ้นกู้ ‘เอที1’ เครดิตสวิสป่วน พบ ‘20 กองทุนไทย’ เข้าลงทุนทางอ้อมผ่าน มาสเตอร์ฟันด์ แต่ย้ำสัดส่วนลงทุนน้อย ผลกระทบจำกัด มั่นใจไม่เกิด ‘ฟันด์รัน’ เหตุคุมความเสี่ยงได้ เผยเน้นขายกลุ่มนักลงทุนเฉพาะเจาะจงที่เข้าใจความเสี่ยงดี
Key Points :
- หุ้นกู้ AT1 ของเครดิตสวิส ถูกปรับลดให้มีมูลค่าเหลือ ‘ศูนย์’ หลังจากที่ UBS บรรลุข้อตกลงในการซื้อกิจการ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับเงินคืน
- จากข้อมูลพบ กองทุนไทย ราว 20 แห่ง เข้าลงทุนทางอ้อมผ่านมาสเตอร์ฟันด์
- ผู้จัดการกองทุน ย้ำสัดส่วนลงทุนน้อย มั่นใจไม่ส่งผลกระทบจากเกิด Fund Run เหตุคุมความเสี่ยงได้ และยังเน้นขายกลุ่มนักลงทุนเฉพาะเจาะจงที่เข้าใจความเสี่ยง
- นายกสมาคม บลจ. เชื่อกระทบกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแค่บางกองและผลกระทบจำกัด
กลายเป็นประเด็นที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ของ เครดิตสวิส จะถูกปรับลงให้มีมูลค่าเหลือ ‘ศูนย์’ ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ชนิดดังกล่าวจะ ‘ไม่ได้เงินคืน’ แม้แต่บาทเดียว
โดยปกติแล้ว หุ้นกู้ AT1 ถือเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดอายุ(Perpetual) แต่ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนคืนได้หลังจากที่ออกไปแล้ว 5 ปี ส่วนสถานะของผู้ถือหุ้นกู้ชนิดนี้ ตามเกณฑ์ Basel III จะได้รับเงินคืนในกรณีที่ธนาคารเลิกกิจการถัดจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้สามัญของธนาคาร ซึ่งตามหลักจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ แต่กรณีของเครดิตสวิส หุ้นกู้ตัวนี้ถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์ทันที ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหวาดวิตกต่อการลงทุนในหุ้นกู้ชนิดดังกล่าว
‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้สำรวจว่ามีนักลงทุนสถาบันในประเทศของไทย ไปลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของ เครดิตสวิส มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการตรวจสอบกับแหล่งข่าวต่างๆ พบว่า ถ้าเป็นในส่วนของสถาบันการเงินไทย ไม่ปรากฎว่ามีไปลงทุนในหุ้นกู้ชนิดดังกล่าวของเครดิตสวิสเลย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ ASP Global พบว่า มีไปลงทุนบ้างเช่นกัน โดยข้อมูลของ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า มี บลจ. ราว 20 กองทุน ที่ไปลงทุนในหุ้นกู้ของ เครดิตสวิส ซึ่งมีสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมากตั้งแต่ 0.07% ไปจนถึง 1.54%
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรมรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ทีม ASP Global ได้มีการทำบทวิเคราะห์กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของไทย ที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ของเครดิตสวิสนั้น พบมี จำนวนไม่ถึง20 กองทุน และไม่ได้เป็นการลงทุนใน AT1 ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ลงทุนในสัดส่วนไม่สูง
ทั้งนี้มีเพียง 1 กองทุนที่ลงทุนระดับ 5% ของ NAV เท่านั้น โดยสาเหตุที่นักลงทุนมีความกังวลเรื่องดังกล่าวมาก เพราะ ไม่เคยพบเหตุการณ์ที่มีการตัดหนี้สูญ (Write-off)
ย้ำชัด บลจ.ไทยลงทุน AT1 เครดิตสวิสน้อย
แหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นของ บล.เอเซีย พลัส เป็นการลงทุนในหุ้นกู้ทั้งหมดของเครดิตสวิส ยังไม่ได้แยกในส่วนที่ลงทุนใน AT1 ซึ่งถ้าดูเฉพาะที่ลงทุนใน AT1 ของเครดิตสวิสถือว่าน้อยมากไม่ถึง 0.5% หรือเฉลี่ยเพียงแค่ 0.04-0.1% เท่านั้น
“ปกติแล้วกองทุนรวมของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ จะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลัก(มาสเตอร์ฟันด์) ราว 4 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านกองทุนของ PIMGO GIS Income Fund และเท่าที่ตรวจสอบข้อมูลกับทาง มาสเตอร์ฟันด์ พบว่า มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของเครดิตสวิสน้อยมากไม่ถึง 0.5% หรือเฉลี่ยที่ 0.04-0.1% เท่านั้น”
ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ปกติแล้วทาง มาสเตอร์ฟันด์ จะมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นกู้ AT1 ของเครดิตสวิสไม่เกิน 1-2% ที่เหลือจะเน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่า 1,000 ตัว ถือว่ามีการกระจายตัวที่ค่อนข้างมาก ช่วยลดความเสี่ยงได้ดี
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน มาสเตอร์ฟันด์ ยังคงถือตราสารหนี้ตัวอื่นอยู่เป็นปกติ ไม่ได้มีการขายแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าหลังจากที่ UBS เข้ามาซื้อกิจการของ เครดิตสวิส ทำให้ราคาตราสารหนี้มีโอกาสกลับมาที่ราคาพาร์ และยังมีโอกาสที่จะได้เงินต้นคืนหรือดอกเบี้ยมีแนวโน้มดูดีขึ้น ดังนั้นจากข้อมูลในขณะนี้จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะที่คนแห่กันมาไถ่ถอนหน่วยลงทุน(Fund Run)
“ผลกระทบในขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด แต่ยอมรับว่า เมื่อผู้ถือหน่วยได้รับข้อมูลจากบางแหล่ง อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งก็มีสอบถามเข้ามาที่ บลจ. พอสมควร แต่ยังไม่พบแรงขายหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีบ้างที่มาไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนเท่านั้น”
นางสาว ชวินดา าหาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศบางกองทุนเท่านั้น โดยผู้จัดการกองทุน จะมีการตรวจสอบประสานงานกับกองทุนหลักต่างประเทศต้นทาง น่าจะติดตามข้อมูลกันอยู่
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ลงทุนตราสารหนี้ประเภทนี้จะเป็นกลุ่มผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ไม่มีการขายทั่วไปกับรายย่อย และในช่วงตลาดผันผวนแรง ผู้จัดการกองทุน จะใช้การพิจารณาเข้าลงทุนอย่างระมัดระวัง คงมีการปรับลดสัดส่วนลงไปมากแล้ว คาดว่าผลกระทบยังจำกัด
ในส่วนของ บลจ.กรุงไทย มีเพียง 2 กองทุน KT- BOND และ KT-CSBOND กำลังตรวจสอบข้อมูลกับกองทุนหลักต่างประเทศที่ชัดเจนก่อน แต่เบื้องต้นเชื่อว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบ
“ปัจจุบันกองทุนหลักน่าจะลดสัดส่วนการลงทุนที่มีผลกระทบไปมากแล้วตามมูลค่าที่ลดลง ประกอบกับผู้ถือหน่วยกองทุนประเภทนี้เป็นกลุ่มนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ที่มีความเข้าใจหุ้นกู้เครดิตสวิส AT1 รู้ความเสี่ยงดีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามในภาวะที่ตลาดผันผวนแรงช่วงนี้ ก็มักจะมีแรงขายออกมาบ้างเป็นปกติไม่ได้มีนัยสำคัญแต่อย่างใด”
หุ้นกู้ AT1แบงก์ไทยยังน่าสนใจลงทุน
แหล่งข่าว บลจ. อีกรายหนึ่งกล่าวว่า กรณีธนาคารในไทยจะขาย AT1 หรือ sub debt tier 2 ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ออกเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ น่าจะล้มเลิกแผนไปก่อน เพราะช่วงนี้จะถูก charge credit spread แพงกว่าปกติ
ส่วนแนวโน้มการลงทุนหุ้นกู้ประเภท AT1 ของธนาคารในไทย ก็ถือว่า ยังน่าสนใจมากกว่าแบงก์ต่างชาติแม้จะเป็นธนาคารที่มีความเชื่อมั่นสูงกว่า เพราะว่าการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของไทยยังแข็งแกร่งกว่า มีความน่าเชื่อถือสูงกว่า ซึ่งในภาวะตลาดเผชิญวิกฤติต่างๆ แต่แบงก์ไทย ยังมีกำไรเติบโตต่อเนื่อง หรือแม้กำไรจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีกำไร