เศรษฐศาสตร์จุฬาฯชวนรัฐขยายวงคิดความยั่งยืนผลักดันแรงจูงใจใหม่ให้เอกชน
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดความท้าทายใหม่ของนักเศรษฐศาสตร์ จากยุคที่เรื่อง ESG ไม่เคยถูกคำนวณในสมการ สู่การผนวกรวมเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในทุกนโยบายและทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ชี้การทำงานภายใต้ระบบเดียวกันเป็นกุญแจสำคัญต่อสู้ภาวะโลกรวน
รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการ Econ Connect ว่า ในยุคปัจจุบันเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หลอมรวมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน หน้าที่ของผู้กำหนดนโยบายและนักเศรษฐศาสตร์คือต้องเชื่อมต่อและจัดการให้เห็นเป็นภาพเดียว ความท้าทายในวันนี้คือเรื่องภาวะโลกรวนหรือ Climate Change เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้วันนี้แล้วเห็นผลทันตา แต่ทำอย่างไรให้การกระทำในวันนี้ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบไปสู่คนรอบข้างและคนรุ่นหลัง
ใครรวยก็ทำไปก่อนเลย จริงหรือ?
รศ.ดร.สิทธิเดช ทำความเข้าใจว่า เรื่องการจัดการความยั่งยืนได้ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง ในอดีตเมื่อ 50-60 ปีก่อน ตั้งแต่ประเทศฝั่งตะวันตกหยิบยกเรื่อง Climate Change ขึ้นมา มีแนวคิดว่าควรให้ภาครัฐเป็นคนจัดการ จึงเกิดเป็น Kyoto Protocol ในปี 1997 แต่กลับมีทั้งประเทศที่ให้ความร่วมมือและไม่ร่วมมือ เพราะยึดติดว่าให้ประเทศที่ร่ำรวยจัดการไป ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็ต้องพยุงเศรษฐกิจตนเองให้รอดก่อน จนกระทั่งโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2016 จึงมีการปรับแนวคิดใหม่บน Paris Agreement ที่เหมือนเป็นข้อตกลงกึ่งบังคับให้แต่ละประเทศทำตาม และเปลี่ยนจากการให้ภาครัฐเป็นคนทำมาเป็นการใช้กลไกตลาดมากยิ่งขึ้น
“เรื่องความยั่งยืนถูกขยายวงผู้เล่นจากภาครัฐมาสู่ภาคเอกชนและประชาสังคมมากขึ้น เปลี่ยนจากแนวคิดที่ว่ารัฐต้องทำภายใต้เครื่องมือรัฐที่จำกัด เช่น การใช้นโยบายภาษี หรือการกีดกันทางการค้า มาเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจ เครื่องมือทางการเงินจึงกลายมามาเป็นแรงจูงใจรูปแบบใหม่ เช่น Green Finance หรือแนวคิด ESG เข้ามาควบคุมในตลาดทุน”
ESG: บริษัทรวยอาจทำไหว บริษัทเล็กทำอย่างไร?
สมัยนี้แนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้น ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อสร้างประโยชน์กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีกับการจัดการความเสี่ยงองค์กร ทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์การค้า ภาษี หรือการสร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้าและลูกค้า อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สิทธิเดช มองว่า ESG ได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักของบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ภาครัฐควรมีเครื่องมืออย่างอื่นที่ให้คนตัวเล็กหรือคนที่อยู่นอกวงตลาดทุนได้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เครื่องมือ ESG อาทิ แบงก์ชาติกำลังออกเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อสำหรับ SME รายย่อยรูปแบบใหม่ที่จูงใจให้เขาสนใจด้านความยั่งยืนมากขึ้น ธุรกิจรายย่อยก็คือห่วงโซ่ที่สำคัญของธุรกิจรายใหญ่ เราก็หวังว่าบริษัทใหญ่จะส่งผ่านทั้งกำไรและการกำกับดูแลไปยังบริษัทย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
กุญแจสู่ความยั่งยืนท่ามกลางภาวะโลกรวน
รศ.ดร.สิทธิเดช ชี้ว่า แม้แต่ในเชิงวิชาการยังถกเถียงกันมากเรื่องการจัดการความยั่งยืน แต่กุญแจสำคัญคือต้องอยู่ในระบบเดียวกัน เพื่อให้แต่ละคนรู้ว่าทำอะไรได้บ้างบนฐานคิดเดียวกัน คนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร อย่างน้อยก็มีคู่มือให้ได้เป็นกรอบนำทาง อีกทั้งธุรกิจเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัพจะได้มีแนวคิดที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น นับเป็นหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมได้รวดเร็วขึ้น
“เช่นเดียวกับสมัยก่อนที่เราวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก GDP สูตรเดียวกัน ต้องยอมรับว่า GDP มีข้อเสียเยอะ เช่น ไม่ครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจนอกระบบและความเหลื่อมล้ำ แต่อย่างน้อยก็เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เราเปรียบเทียบกันได้ แต่จะไปทำกันแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้า เรื่องความยั่งยืนก็ต้องเป็นลักษณะเดียวกัน”
รศ.ดร.สิทธิเดช ทิ้งท้ายว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์มีการแปลความหมายของความยั่งยืน (Suatainability) ใน 3 มุม มุมแรกคือมองในมิติเวลาปัจจุบัน ต้องไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งต่างๆ มุมที่สองเป็นมิติเวลาในอนาคต ต้องให้คนในอนาคตอยู่ได้โดยไม่แย่ไปกว่าเรา และมุมที่สามคือการจัดการทั้งสองช่วงเวลา ทำอย่างไรให้ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากที่สุด
สำหรับคลิปฉบับเต็ม รับชมได้ทางยูทูป https://www.youtube.com/watch?v=eEYVkJyP7JI และพอดแคสต์ในรายการ Econ Connect โดยศิษย์เก่าและอาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันนำความรู้และมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์มาสื่อสารกับสังคม อาทิ บรรยง พงษ์พานิช, ธนา เธียรอัจฉริยะ, รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม