ทำไม ‘สวิตเซอร์แลนด์’ มีระบบการเงินแยกขาดจาก ‘อียู’ ?

ทำไม ‘สวิตเซอร์แลนด์’ มีระบบการเงินแยกขาดจาก ‘อียู’ ?

ส่องเหตุผลเบื้องหลัง ทำไม “สวิตเซอร์แลนด์” มีระบบการเงิน-การธนาคารแยกขาดจากอียู จนทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการเงินน่าเชื่อถือและแข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ของโลก

Key Points

  • สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศในทวีปยุโรปที่ไม่เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) 
  • บทวิเคราะห์ชี้ มาจากเหตุผลด้านประวัติศาสตร์-การเมือง​, สภาวะเศรษฐกิจ, ระบอบการปกครอง, ประชาธิปไตย และความแข็งแกร่งในภาคการเงิน 
  • ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.50% ขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับขึ้น 0.50% แตะระดับ 1.50% 
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ เหตุผลข้างต้นทำให้ในอนาคตสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังวางตัวเป็นอิสระและไม่เข้าร่วมอียูต่อไป 

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา “สวิตเซอร์แลนด์” เป็นหนึ่งประเทศที่นักวิเคราะห์และประชาชนหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเงินกล่าวถึงมากที่สุด ท่ามกลางความปั่นป่วนของเครดิต สวิส (Credit Suisse) อดีตธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ในสหรัฐเมื่อประมาณต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

บทเรียนวิกฤติ Bank Run "2 ธนาคาร" ล้มในสัปดาห์เดียว ความผิดอยู่ที่ใคร?

"หุ้นแบงก์ยุโรป" ร่วงเกือบ 6% เผชิญแรงกดดันจาก SVB

หุ้น เครดิตสวิสร่วงแรง 24% หลังนักลงทุนซาอุฯ ถอนการช่วยเหลือ

ไขปม "หุ้นเครดิตสวิส" ราคาดิ่งลงเหลือ 60 บาท ปัญหาส่วนตัวหรือวิกฤติ SVB

 

ท่ามกลางเหตุการณ์ความปั่นป่วนด้านการธนาคารดังกล่าว อีกหนึ่งประเด็น “เคียงข่าว” ที่น่าสนใจคือแม้สวิตเซอร์แลนด์จะอยู่ในทวีปยุโรปและถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เริ่มตั้งแต่ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย และอิตาลี ทว่าสวิตเซอร์แลนด์กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งระบบทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ก็แยกขาดออกจากอียู ทั้งสกุลเงิน และธนาคารกลางอย่างสิ้นเชิง

ทำไม ‘สวิตเซอร์แลนด์’ มีระบบการเงินแยกขาดจาก ‘อียู’ ? สีน้ำเงินคือประเทศสมาชิกอียู

 

 

ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.50% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอียูเดือน ก.พ. อยู่ที่ 8.5% ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% แตะระดับ 1.50% ท่ามกลางวิกฤติในภาคธนาคารและอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ 3.4%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าด้วย “ลักษณะเฉพาะ” บางประการของวัฒนธรรมการเมืองและโครงสร้างภาคการเงินส่งผลให้ทางการสวิสตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอียู จนท้ายที่สุดการไม่เข้ารวมเป็นสมาชิกของกลุ่มความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงทำให้ระบบการเงินของสวิตเซอร์แลนด์แยกขาดจากกลุ่มประเทศในอียูอย่างชัดเจน

ดังนั้น การรู้สาเหตุว่าทำไมสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู อาจจะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของการแยกขาดของภาคการเงินดังกล่าวได้กระจ่างมากขึ้น

บทวิเคราะห์ “Why Switzerland Is Not a Member of EU?” จากเว็บไซต์อินเตอร์เนชันแนล เวลธ์ ดอทอินโฟ (International Wealth.info) ระบุเหตุผลหลัก 5 ประการที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูว่าประกอบด้วย

1. ประวัติศาสตร์-การเมือง-ความเป็นกลางทางทหาร

เหตุผลแรกที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูเพราะ “ประวัติศาสตร์ความเป็นกลาง” ของประเทศ ซึ่งผู้นำหลายต่อหลายคนของสวิตเซอร์แลนด์ต่างยึดมั่นในจุดยืนนี้มาหลายศตวรรษ รวมถึงทุกครั้งที่เกิดสงครามและความขัดแย้งในทวีปยุโรป จุดยืนนี้ก็มีส่วนทําให้สวิตเซอร์แลนด์มีความสมดุลระหว่าง “เศรษฐกิจ” และ “ความมั่นคงของรัฐ” อย่างมาก

ทั้งนี้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยึดหลักด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ “ความเป็นกลางทางทหาร” 

ดังนั้น หากสวิตเซอร์แลนด์ยอมเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู หลักการดังกล่าวอาจหายไป เนื่องจากประเทศสมาชิกทุกประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายและกลยุทธ์ของอียูอย่างเคร่งครัด และท้ายที่สุด ภาพลักษณ์ของสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะ “อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” และ “ผู้สนับสนุนการเจรจาแบบสันติภาพ” จะหายไปในพริบตา

2. สภาวะแวดล้อมที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ค่อนข้างแข็งแกร่งและมีความมั่งคั่งสูง แม้จะเผชิญกับการคว่ำบาตร หรือเผชิญวิกฤติการณ์ระดับโลกก็ตาม รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามี “ความก้าวหน้า” มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปด้วย

นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ก้าวข้ามวิกฤติการณ์ทางการเงินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเจ็บตัวน้อยมาก ที่สำคัญหลังจากวิกฤติดังกล่าว เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ยังเติบโตต่อไปได้ ท่ามกลางหลายประเทศในอียูที่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในทวีปยุโรปเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 10.1% ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สกุลเงินฟรังก์สวิส ยังสามารถรั้งตำแหน่ง “สกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในโลก”ได้ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่เพียง 2.83%

บทวิเคราะห์ระบุว่า สำหรับประเทศอื่นในทวีปยุโรปที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าสวิตเซอร์แลนด์ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมทางการค้าในเขตเศรษฐกิจยุโรปอาจนับเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศนั้นๆ 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุผลด้านความแข็งแกร่งด้านการเงินข้างต้น บรรดานักวิเคราะห์จึงมองว่า หากสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู อาจทำให้เสถียรภาพทางการเงินดังกล่าวสั่นคลอน เนื่องจากต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้ากับมาตรฐานของประเทศในอียู

3. ความแตกต่างด้านระบอบการปกครอง

ความแตกต่างสำคัญระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และอียูคือ “ระบอบการปกครอง” โดยสวิตเซอร์แลนด์มีโครงสร้างของรัฐบาลกลาง (A Federal Structure) ที่นํามาใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2391

ณ ตอนนั้น สหพันธรัฐสวิส (The Swiss Federation) แตกต่างจากส่วนการปกครองอื่นในยุโรปด้วยปัจจัยด้านระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (Checks and Balances) รวมถึงการกระจายอำนาจ (Decentralized Power)

ยกตัวอย่างเช่น สหพันธรัฐสวิสในตอนนั้นแบ่งย่อยออกเป็นแคนทอน (Canton) หรือเขตปกครองย่อย ซึ่งแต่ละแคนทอนก็มีอิสระในตัวเอง (An Independent Entity) กล่าวคือมีรัฐธรรมนูญท้องถิ่น รัฐบาล และตํารวจเป็นของตัวเอง โดยรัฐบาลกลางมีหน้าที่ดูแลเพียงเรื่องนโยบายต่างประเทศ ด้านกองทัพ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐบาลกลางได้รับอำนาจการตัดสินใจเฉพาะในกรณีที่เกิดการยื่นเรื่องจากแคนทอน 2 แห่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งการตัดสินใจแต่ละครั้งก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินการที่เข้มงวดอย่างมาก 

ในทางตรงกันข้าม ระบอบการปกครองของประเทศในกลุ่มอียูค่อนข้างแตกต่างจากกรอบการดำเนินงานของสวิตเซอร์แลนด์ โดยประกอบด้วย 

1. ระบบรวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (A Completely Centralized System) ภายใต้รัฐบาลเดี่ยว เช่น ในอิตาลีและฝรั่งเศส

2. โครงสร้างของรัฐบาลกลาง (A Federal Structure) ที่รัฐบาลกลางมีอำนาจตัดสินใจในส่วนที่ไม่ใช่การบริหารประเทศ (Non-administrative Decisions) เช่น เยอรมนี

จากความแตกต่างด้านระบบการปกครองที่กล่าวมา จึงเป็นเหตุผลสําคัญว่าทําไมทางการสวิสและประชาชนตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู

4. ประชาธิปไตยแบบทางตรง

อีกจุดหนึ่งที่ทําให้สวิตเซอร์แลนด์แตกต่างจากประเทศสมาชิกอียูคือ ระบบประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) กล่าวคือประชาชนทุกคนมีอำนาจตัดสินใจเต็ม 100% โดยประชาชนสามารถอนุมัติหรือยกเลิกกฎหมายของรัฐบาลได้ทันที ผ่านการลงประชามติ หรือการล่าลายเซ็นของประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละหน่วยการปกครองย่อย

ดังนั้น หากสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูภายใต้สถานภาพทางกฎหมายปัจจุบันของกลุ่มความสัมพันธ์ดังกล่าว จะส่งผลโดยตรงให้ระดับความเป็นประชาธิปไตยของสวิตเซอร์แลนด์ลดลงอย่างมาก เพราะทุกการตัดสินใจจะต้องขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว

5. ความแข็งแกร่งของภาคการเงิน-การธนาคาร

สาเหตุสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลและประชาชนชาวสวิสไม่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูคือ “ความแข็งแกร่งของภาคการเงิน-การธนาคาร” ของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลกลางสวิสให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าธนาคารอย่างมาก 

ประกอบกับกฎหมายภาษีที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่นำทรัพย์สินมาฝากไว้ในธนาคาร รวมทั้งสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาโอบล้อมส่งผลให้มีความปลอดภัยสูง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมธนาคารสำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Private Banking) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริหารสินทรัพย์ข้ามชาติกว่า 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 212 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของของสินทรัพย์ที่มีการโยกย้ายระหว่างประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นพ้องว่า หากไม่นับทองคำ พันธบัตรรัฐบาล หรือสกุลเงินดอลลาร์ อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำมากที่สุดคือการเก็บเงินไว้ในสกุลเงิน “ฟรังก์สวิส”

ด้วยนโยบายการเก็บความลับของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าธนาคารในกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง ส่งผลให้หากสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูอาจส่งผลให้จุดเด่นด้านการรักษาความลับของลูกค้าลดน้อยลงได้ เพราะนักลงทุนอาจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล และการแชร์ข้อมูลระหว่างกลุ่มประเทศในอียู

สวิตเซอร์แลนด์และความสัมพันธ์กับอียู

สำนักข่าวบีบีซี (BBC) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2515 ทั้งสวิตเซอร์แลนด์และกลุ่มประเทศอียูทำข้อตกลงเสรีทางการค้าร่วงกัน (Free Trade Agreement) ทว่าในอีก 20 ปีถัดไปรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประกาศไม่เข้าร่วมเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) หรือ EEA ด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ 

อย่างไรก็ดี ในปี 2548 ทั้งสองบรรลุข้อตกลงเปิดพรมแดนในกลุ่มประเทศเชงเกน (Europe's Schengen Open Borders) พร้อมเปิดการคมนาคมแบบเสรีจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังรัฐเปิดใหม่ (New EU States) ของอียูทั้งหมด 10 รัฐ 

โดยประเทศในกลุ่มเชงเกนประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, สเปน, ไอซ์แลนด์, อิตาลี, ออสเตรีย, กรีซ, ลัตเวีย, ลิกเตนสไตน์, ลิทัวเนีย, ลักเซมเบิร์ก, มอลตา, นอร์เวย์, โปรตุเกส, โปแลนด์, ฝรั่งเศส, สวีเดน, เยอรมนี, สโลวาเกีย, สโลวีเนีย, ฟินแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, โครเอเชีย, เดนมาร์ก, สาธารณรัฐเช็ก, ฮังการี และ เอสโตเนีย 

ส่วนในปี 2557 รัฐบาลเปิดรับแรงงานจากกลุ่มประเทศในอียูจำนวนน้อยลง ส่งผลให้เกิดความบาดหมางระหว่างทั้งสองฝ่าย จนท้ายที่สุดเกิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ภายใต้กรอบสนธิสัญญา

ทั้งนี้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินเป็นเสียงเดียวกันว่า “สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศในยุโรปตะวันตกที่รัฐบาลและประชาชนไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู ส่วนใหญ่เป็นเพราะเหตุผลด้านอิสระของเขตอํานาจศาลและแนวทางด้านประชาธิปไตย” รวมทั้งประเด็นด้านการเงินอื่น ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น