'เรย์ ดาลิโอ' เตือนนักลงทุนส่อสูญเงินหนัก จากภาวะ 'ดอกเบี้ยขาขึ้น'
“เรย์ ดาลิโอ” นักลงทุนชื่อดังเตือน เงินนักลงทุนอาจสูญมูลค่าหนักขึ้นเรื่อยๆ เหตุ "เฟด" รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง พร้อมประเมินนักลงทุนอาจเทขายบอนด์แบบขาดทุน คล้ายกรณี SVB จนเกิด "ความไม่สมดุลร้ายแรง" ในภาคการเงิน
สำนักข่าวอินไซเดอร์ ดอทคอม (Insider.com) รายงานถ้อยแถลงของเรย์ ดาลิโอ ผู้ร่วมก่อตั้งบริดจ์วอเตอร์ (Bridgewater) บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ว่า ปัจจุบันมูลค่าของสินทรัพย์ที่ได้มาจากเงินกู้ยืม (Borrowed Funds) กำลังปรับตัวลดลง รวมทั้งการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ก็นับเป็นตัวชี้วัดถึงปัญหาที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ
ทั้งนี้ ดาลิโอ อธิบายผ่านวิดีโอซึ่งเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงสินเชื่อและนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ในทางกลับกัน หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างร้อนแรง การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ก็จะสูญเสียมูลค่าลงไปจนกระทั่งได้นักลงทุนได้ผลตอบแทนกลับมาน้อยลงตามไปด้วย
“เมื่อสถานการณ์นั้นเกิดขึ้น ทุกคนจะสูญเงินลงทุน ซึ่งก็จะกระทบกับภาคส่วนอื่นต่อไปเป็นทอดๆ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลกด้วย” ดาลิโอ กล่าว
เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการสร้างสมดุล (A Difficult Balancing Act) ระหว่างความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นจนกระทั่งสามารถให้ผลตอบแทนหลังจากหักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว กับการพยายามไม่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงมากจนกระทบการใช้ชีวิตของประชาชน
ดาลิโอ กล่าวเสริมว่า ตลาดจะเริ่มเห็นการกลับมากู้สินเชื่อมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่จะถึงนี้ เพราะเฟดต้องรับมือกับการขาดดุลงบประมาณจํานวนมหาศาล (Massive Budget Deficits) โดยรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมเงินผ่านการขายตราสารหนี้ (Selling Debt) เช่น ตั๋วเงินคลัง เพื่อแก้ไขสภาวะขาดดุล ซึ่งหากจะทำเช่นนั้นได้ นักลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ
“ถ้านักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนที่มากเพียงพอ พวกเขาสามารถขายพันธบัตร หรือหุ้นกู้อื่นๆ ที่ถืออยู่ได้ แทนการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวใหม่ ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิด "ความไม่สมดุล" ที่ร้ายแรงอย่างมาก”
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถ่วงน้ำหนักกับการถือครองพันธบัตร ซึ่งสร้างปัญหาเมื่อต้องประเมินมูลค่าหรือขายในอัตราตลาดแทนที่จะถือจนครบกําหนด
ประเด็นที่กล่าวมา เป็นสถานการณ์เดียวกับที่เกิดขึ้นกับ SVB ซึ่งขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.94 หมื่นล้านบาท) จากการขายพันธบัตรในพอร์ตการลงทุน ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และมาตรการทางการเงินแบบตึงตัว
“ถ้าคุณปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาดล่าสุด หุ้นจำนวนมากจะประสบปัญหาทางการเงิน” ดาลิโอกล่าวปิดท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์