ถอดบทเรียนจากความตึงเครียดของภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป (ตอนที่1)

ถอดบทเรียนจากความตึงเครียดของภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป (ตอนที่1)

เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แวดวงเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งในสหรัฐอเมริกา นับเป็นการล่มสลายครั้งใหญ่สุดในรอบ 15 ปีตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มในปี 2551

โดยเฉพาะ Silicon Valley Bank (SVB) ที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯ ตามมาด้วยธนาคารใหญ่ระดับโลกจากฝั่งยุโรป ได้แก่ Credit Suisse (เครดิตสวิส) แม้ทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ได้รับมือกับปัญหาด้วยความรวดเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและตลาดการเงิน

แต่แรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินโลกยังคงมีให้เห็นเป็นระยะ จนถึงขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่าอาจมีธนาคารอื่น ๆ ประสบปัญหาเป็นโดมิโนจนนำไปสู่วิกฤตภาคการธนาคารหรือไม่  แต่ที่สำคัญ คือ ความวุ่นวายทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ควรตระหนักและนำมาเป็นบทเรียนในหลากหลายมิติด้านความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

เปิดปมปัญหาเกิดอะไรขึ้นกับธนาคารในสหรัฐฯ

การล้มละลายในเวลาไล่เลี่ยกันของธนาคารสหรัฐฯ 3 แห่ง โดยรวมแล้วมีสาเหตุจากปัญหาการขาดสภาพคล่องเป็นหลัก แม้ในรายละเอียดที่มาของการไหลออกของเงินฝากอาจมีความแตกต่างกันก็ตาม

เริ่มจาก Silvergate Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นให้บริการลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่มคริปโทฯ มีปัญหาสภาพคล่องแห่ถอนเงินฝากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ธนาคารประสบกับการขาดทุนอย่างหนักกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสเดียว นำไปสู่การประกาศยุติการดำเนินธุรกิจ

ตามด้วย Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่มีสินทรัพย์กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เน้นให้บริการลูกค้าที่เป็น Startup และ Venture Capital ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมและบริษัทร่วมทุนกว่า 2,500 แห่ง ล้วนเป็นลูกค้าธนาคาร ซึ่งเมื่อบริษัทเหล่านี้ประสบปัญหาทางการเงิน

นำไปสู่ความต้องการการถอนเงินฝากจำนวนมาก ธนาคารแก้ไขปัญหาด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่ถือไว้ทำให้เกิดผลขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในภาวะอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น อีกทั้งไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุน ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความตื่นตระหนกถอนเงินฝากเป็นจำนวนกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จนนำไปสู่การถูกสั่งปิดกิจการ

ธนาคารแห่งที่ 3 คือ Signature Bank ซึ่งฐานลูกค้าเงินฝากส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมคริปโตฯ เช่นเดียวกับ Silvergate Bank ทำให้ลูกค้าขาดความมั่นใจแห่ถอนเงินรวมประมาณ 20% ของเงินฝากทั้งหมด ส่งผลให้ธนาคารถูกสั่งปิดกิจการด้วยความกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงในเชิงระบบ

ในช่วงเวลาเดียวกันทางฝั่งยุโรป ปรากฏข่าวใหญ่ Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ในสวิตเซอร์แลนด์และเป็นอันดับ 17 ของยุโรปด้วยการมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของจีดีพียุโรป โดยประสบปัญหาทางการเงินจากผลประกอบการที่ไม่ดีสะสมมาหลายปี

ทำให้ในปี 2565 ธนาคารขาดทุนสุทธิคิดเทียบเป็นกว่า 7 พันล้านดอลลาร์และมีลูกค้าถอนเงินไปกว่า 1.33 แสนล้านดอลลาร์ อีกทั้งได้รับการปฏิเสธการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank  ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวของธนาคาร ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จึงได้มีการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือ Credit Suisse โดยธนาคารกลางได้ให้กู้ยืมเงิน 5.37 หมื่นล้านดอลลาร์  และช่วยเจรจาให้ธนาคาร UBS เข้ามาซื้อกิจการ

การรับมือกับปัญหาอย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงินในระยะสั้น โดยการที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ เข้ามาดูแลสภาพคล่องของระบบได้อย่างรวดเร็วจะช่วยยับยั้งไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกเหมือนเช่นวิกฤตซับไพร์ม โดย Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ ได้ประกาศค้ำประกันเงินฝากลูกค้าของ SVB

 อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาตรการ Bank Term Funding Facility (BTFT) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์  เพื่อเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดกับธนาคารอื่น ๆ ด้วย ล่าสุด First Citizens Bank ได้ตกลงซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของ SVB จาก FDIC แล้ว  

ในขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และผู้กำกับสถาบันการเงินสวิส (FINMA) ประกาศพร้อมช่วยเหลือ Credit Suisse ให้กู้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน และล่าสุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์สนับสนุนให้ธนาคาร UBS เข้าซื้อกิจการธนาคาร Credit Suisse ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (หรือ 3.2 พันล้านดอลลาร์)

ผลกระทบต่อระบบธนาคารไทยอยู่ในกรอบจำกัด  ในมุมของธนาคารสหรัฐฯ ที่ล้มนั้น ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ไม่มีธนาคารที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคาร

ที่สำคัญพบว่า ธนาคารไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล  ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. มีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ Venture Capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารต่อเงินฝากของประชาชน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงหรือเข้มแข็งในหลายมิติ ทั้งเรื่องสภาพคล่องและความเข้มแข็งของเงินกองทุน ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio) ณ เดือนม.ค. 2566 อยู่ที่ 189.5% อยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) อยู่ที่ 18.98% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.93% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% และมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.73%

ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 171.9% ซึ่งถือเป็นสถานะที่ดีกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีฐานลูกค้าทั้งในฝั่งสินเชื่อและเงินรับฝากที่กระจายตัวไปในกลุ่มรายย่อย ภาคธุรกิจ และ SMEs