ถอดบทเรียนจากความตึงเครียดของภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ตอนที่ 2
จากบทความในตอนแรกที่ได้กล่าวถึงที่มาของปัญหาภาคการธนาคารในสหรัฐ และยุโรป และแนวทางแก้ไขรับมือกับปัญหาอย่างรวดเร็วของทางการและธนาคารกลางเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงินและตลาดการเงิน
รวมทั้งมองผลกระทบต่อระบบธนาคารไทยอยู่ในระดับจำกัดเมื่อพิจารณาสถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านสภาพคล่องและความเข้มแข็งของเงินกองทุนไปแล้วนั้น
ในบทความนี้จะมาดูกันต่อในมิติของเงินฝาก โดยโครงสร้างเงินฝากของธนาคารไทยพบว่ามียอดเงินฝากที่เป็นรายย่อยมากถึง 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 63% และภาคธุรกิจมีเพียง 37% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เงินฝากที่เป็นครัวเรือนในประเภทออมทรัพย์และกระแสรายวัน ซึ่งกระจายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นการใช้จ่ายเยอะ
จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่เจอสถานการณ์แบบ SVB ที่โครงสร้างเงินฝากกระจุกตัวโดยมีลูกค้าเงินฝากที่เป็นภาคธุรกิจสูงถึง 65% ทำให้เมื่อถอนเงินเป็นจำนวนเงินมากจึงก่อให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงไม่น่าที่จะเกิดความเสี่ยงในระบบธนาคารไทยในด้านนี้
ส่วนการลงทุนอื่นๆ ของธนาคารไทย โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว ถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากเพียง 12% ของสินทรัพย์ทั้งหมด อีกทั้งโครงสร้างงบดุลของธนาคารไทย เน้นการปล่อยสินเชื่อ 80% และนำเงินไปลงทุนต่ำมากเพียง 10-15% ต่างกับธนาคาร SVB ที่เน้นการนำเงินฝากไปลงทุนถึง 60%
ดังนั้น รูปแบบการทำธุรกิจมีความแตกต่างกันมาก หากดูด้านความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ จนเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ 2.76% เทียบไม่ได้กับความเสียหายจากพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนสูง การดูพอร์ตการลงทุนของแบงก์ไทย พบว่า ลงทุนในพันธบัตรต่ำมาก อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของไทยที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดดทำให้โอกาสที่จะมีความเสี่ยงจากการอ่อนไหวด้านราคาหรือผลตอบแทนมีน้อย
ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยมีโอกาสที่จะเห็นธนาคารทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปประสบปัญหาในทำนองเดียวกับ SVB ตามมาอีก เมื่อธนาคารกลางทั้งสหรัฐ และยุโรปยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00%
ส่งผลให้ยังคงมีการเคลื่อนย้ายเงินฝากออกจากธนาคารขนาดเล็กหรือธนาคารที่มีผล Unrealized Loss อยู่ในพอร์ตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเกิดแรงกระเพื่อมในตลาดเงินไปอีกระยะหนึ่ง ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและตลาดหุ้นสหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ รวมถึงเศรษฐกิจ มีแนวโน้มจะชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2566 นี้จากผลกระทบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และภาวะในตลาดเงินที่ตึงตัวขึ้นจากการทำธุรกิจของธนาคารที่ระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะดูแลกำกับธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้มงวดขึ้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนในครั้งนี้
- สถาบันการเงินควรตรวจสอบสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ว่ามีการกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดมากเกินไปหรือไม่ ถึงแม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร SVB จะมีลักษณะเฉพาะ และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าความเสียหายน่าจะไม่ขยายวงกว้างจนนำไปสู่วิกฤตทางการเงินรอบใหม่ จากเหตุการณ์นี้ทำให้เห็นได้ว่า ถึงแม้พันธบัตรรัฐบาลที่นับว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้มูลค่าพันธบัตรร่วงลงมาก เมื่อเกิดเหตุจำเป็นต้องขายเพื่อชดใช้หนี้ก็สามารถทำให้ขาดทุนจนขาดสภาพคล่องและล้มละลายได้ในที่สุด นอกจากนี้ การให้บริการลูกค้าที่เน้นกลุ่มใดมากเกินไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้
- การเข้ายุติปัญหาอย่างฉับพลันของทางการเพื่อยืนยันในความเข้มแข็งของระบบธนาคาร และพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือและการกำกับดูแลสามารถป้องกันการลุกลามซึ่งอาจช่วยลดโอกาสที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ จนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน
- กรณีธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปอาจบ่งชี้ถึง ความเปราะบางในระบบสถาบันการเงินโลกที่เพิ่มมากขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินคาด มาเป็นเวลา 1 ปีของธนาคารกลางต่าง ๆ ทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากได้รับผลกระทบ ส่งผลเชื่อมโยงให้ลูกค้าที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงจากความเสียหายจากพอร์ตการลงทุนในพันธบัตรของธนาคาร
- ในมุมมองของบุคคลทั่วไป การปิดกิจการของ Silicon Valley Bank (SVB) ทำให้เห็นได้ว่าเราเองก็ต้องกระจายความเสี่ยงทั้งการลงทุน การเก็บออม ไม่ฝากในธนาคารใดธนาคารหนึ่งมากจนเกินไป แม้ปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินก็ตามและที่สำคัญควรแบ่งสัดส่วนเงินฝากและการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาธนาคารของสหรัฐ ที่ถูกปิดกิจการและปัญหาธนาคารในยุโรปเป็นเพียงระดับธนาคารไม่ใช่ภาพรวมทั่วโลกโดยความสามารถและเสถียรภาพของระบบการเงินโลกยังดีอยู่แม้จะมีความตึงตัวมากขึ้นจากดอกเบี้ยที่สูง แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจ หรือไม่ใช่วิกฤติการเงินเหมือนกับวิกฤติซับไพร์ม ซึ่งหลังจากนี้อาจเห็นธนาคารรายเล็ก ๆ ในสหรัฐฯ เกิดปัญหามากขึ้นเป็นอาฟเตอร์ช็อคโดยสถานการณ์นี้จะใช้เวลาและอาจมีแรงกระเพื่อมต่อไป แต่เชื่อว่ากลไกที่มีอยู่จะช่วยเสริมให้การแก้ไขปัญหาถูกคลี่คลายได้ในที่สุด