ยอดใช้งบดูแลผู้สูงอายุพุ่ง คลังคาดในปี 76 ต้องใช้ถึง 1 ล้านล้าน
คลังเผยในปีงบ 66 รัฐใช้งบถึง 7.6 แสนล้าน เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คาดในปี 76 รัฐจะใช้งบถึง 1 ล้านล้านบาท หลังประชากรวัยแรงงานลดลงต่อเนื่อง สวนทางงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
Key Points
- ในปี 2576 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด หรือ 28%ของประชากรทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ และเสถียรภาพทางการคลัง
- ปี 61 ใช้งบดูแลผู้สูงอายุ 5.9 แสนล้านบาท หรือ 19.43% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มเป็น7.6 แสนล้านบาท หรือ 23.82% ของงบประมาณรายจ่ายในปี 66 คาดในปี 76 ใช้งบสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
- แนะรัฐตั้งหน่วยงานประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบประชากรสูงวัย เพิ่มระดับการออมรองรับวัยเกษียณ ใช้นโยบายคลังแบบพุ่งเป้าเน้นกลุ่มเปราะบางและสูงวัย
ในปี 2566 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด คาดการณ์ว่า ในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด(Super-Aged Society)โดยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 28%ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ และเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจาก ประชากรวัยแรงงานลดลง ขณะที่ งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มที่ลดลงตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งอาจส่งผลต่อผลผลิตและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีกลุ่มหลักมีแนวโน้มลดลงทำให้รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ได้ลดลง เนื่องจากเป็นวัยที่สร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐ
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นหลักๆ ใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การช่วยเหลือด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ และสวัสดิการหรือเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น 2.ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ และบริการสังคมเพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมากขึ้น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายสวัสดิการด้านบำเหน็จบำนาญและด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.15% ต่อปี หากไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดปัญหาภาระทางการคลังของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
ดังนั้น หากโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยไม่มีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และบริหารรายจ่ายของภาครัฐแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของภาครัฐในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงที่จะมีรายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพเนื่องจากอายุที่ยืนยาวขึ้น หากไม่มีการวางแผนทางการเงินหรือไม่มีเงินออมที่เพียงพอ
คาดงบดูแลผู้สูงอายุพุ่ง 1 ล้านล้านในปี 2576
ด้านงบประมาณและแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้น เมื่อพิจารณาสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการด้านระบบบำเหน็จบำนาญและด้านสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินสำรอง/สมทบ/ชดเชยข้าราชการ เงินสมทบลูกจ้างประจำ ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงาน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนผู้สูงอายุ ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีพบว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสวัสดิการดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากจากปี 2561 ที่ใช้งบประมาณจำนวน 5.9 แสนล้านบาท หรือ 19.43% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มเป็นประมาณ 7.6 แสนล้านบาท หรือ 23.82% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปี 2566 ซึ่งงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการด้านระบบบำเหน็จบำนาญและด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอดในปี 2576
เพิ่มระดับการออม-ใช้นโยบายคลังแบบพุ่งเป้า
ในปัจจุบันภาครัฐได้มีการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานครอบคลุมทุกคนในประเทศแล้ว เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแบบพุ่งเป้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ รัฐยังได้มีการสนับสนุนประชาชนตั้งแต่วัยแรงงานมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติมของตนผ่านกองทุนการออมเพื่อการชราภาพต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในวัยหลังเกษียณ
อย่างไรก็ดี จากการที่โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยรัฐบาลจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการคลัง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้หรือหารายได้เพิ่มเติมจากเครื่องมือใหม่ๆ ควบคู่กับการจัดสรรรายจ่ายภายใต้รายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตเมื่อเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด” (Super-Aged Society) ในปี 2576
ทั้งนี้ นโยบายการคลังในการดูแลผู้สูงอายุที่ควรมีการผลักดัน ประกอบด้วย การผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออมเพื่อการชราภาพซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอเพิ่มเติมจากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดสรรงบประมาณที่อยู่อย่างจำกัดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ และขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้ง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อรองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ประชากรสูงอายุที่เกษียณแล้วทำงานต่อเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีพ
การทบทวนรายจ่ายด้านบำเหน็จบำนาญและด้านสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายและการบริหารจัดการที่สมดุลกับรายได้ โดยให้การช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า (targeted policy) สำหรับกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางหรือผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้านอกจากเป็นการช่วยเหลือให้กลุ่มเปราะบางให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ ยังช่วยลดความเหลือมล้ำในสังคมได้อีกด้วย
แนะตั้งหน่วยประเมินความเสี่ยงการคลัง
สำหรับแนวนโยบายการลดผลกระทบจะเป็นไปในลักษณะเชิงป้องกัน (Preventive) โดยในด้านผู้สูงอายุนั้น เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย นอกจากประชากรจะมีอายุยืนยาวขึ้นแล้ว ผู้สูงอายุยังมีสุขภาพที่ดีมากขึ้นด้วย โดยผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60–69 ปี) ส่วนใหญ่ยังคงมีสุขภาพและความพร้อมในการทำงาน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้สูงอายุดังกล่าวสามารถทำงานได้ตามความสมัครใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุแล้ว ยังสร้างคุณค่าทางด้านจิตใจด้วย
ในอีกด้านหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านรายได้ ภายใต้งบประมาณที่จำกัดประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจำเป็นต้องลำดับความสำคัญให้แก่ผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างยิ่งก่อน อันได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่เปราะบางหรือผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอนอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเพื่อการเกษียณจะมีความจำเป็นในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในอนาคต
ด้านสุขภาพนั้น ภาครัฐได้ให้การส่งเสริมการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรคที่ดีตั้งแต่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างสูงแต่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งการนำระบบประกันสุขภาพมาใช้โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนในการนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
ด้านภาพรวมเชิงระบบ มีงานวิจัยระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์(PIER) เรื่อง “สังคมสูงวัยกับภาระทางการคลัง” เห็นว่า ภาครัฐควรจัดให้มีหน่วยงานทำหน้าที่จัดการปัญหาสังคมสูงอายุโดยเฉพาะ และมีการจัดทำ Aging report เหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป เป็นต้น เพื่อประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อเศรษฐกิจไทยและภาคการคลังอย่างสม่ำเสมอ
“แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีการจัดทำรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปี แต่รายงานดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการประเมินความเสี่ยงภาคคลัง ดังนั้น การให้มีหน่วยงานของภาครัฐมารับหน้าที่ในการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อโครงสร้างรายรับรายจ่ายของภาครัฐอย่างเป็นระบบเป็นประจำทุกปี จะช่วยสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและงบประมาณที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับที่มีการจัดทำในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ”
นอกจากนี้ การจัดทำบทวิเคราะห์ Aging report จะช่วยให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงภาคประชาชนเข้าใจถึงปัญหาในภาพเดียวกัน และใช้เป็นหลักอ้างอิงในการวางแผนทั้งระดับยุทธศาสตร์และระดับปฏิบัติการให้มีการเตรียมรับมือที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดและความเร่งด่วนของปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสามารถชี้วัดประสิทธิภาพของนโยบายที่ออกมาได้อย่างเป็นระบบ