แจกเงินดิจิทัล ‘1 หมื่นบาท’ ประเทศไทยได้หรือเสีย?

แจกเงินดิจิทัล ‘1 หมื่นบาท’ ประเทศไทยได้หรือเสีย?

อดีตผู้ว่าธปท.-นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์นโยบาย‘แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท’ 50 ล้านคน ประเทศได้หรือเสีย ห่วงสมมติฐานผิดนำไปสู่การทำนโยบายที่ผิดพลาด ยิ่งสร้างปัญหาการคลัง

Key Points

  • พรรคเพื่อไทยชูนโยบายหาเสียง ‘แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท’ รวม 50 ล้านคน คาดใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท 
  • หวังผลตัวคูณทางเศรษฐกิจ 6 เท่า สร้างเงินสะพัดในระบบ 3 ล้านล้านบาท หนุนจีดีพีราว 5% ต่อปีในระหว่างปี 2567-2570
  • นักเศรษฐศาสตร์ ตั้งคำถามถึงตัวคูณ 6 เท่า เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ห่วงสมมติฐานผิดนำไปสู่การทำนโยบายที่ผิดพลาด ยิ่งสร้างปัญหาการคลัง
  • ผลศึกษาสำนักงบประมาณของรัฐสภา พบ ตัวคูณเศรษฐกิจแค่ราว 0.94-1.94 เท่า ส่วนของ ธปท. อยู่ที่ราว 0.4 เท่า
  • อดีต ผู้ว่าธปท. ห่วงปัญหาการคลังในอนาคต ทำคนขาดวินัยการเงิน ระบุเวลานี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแล้ว

        ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการหาเสียงเลือกตั้งในเวลานี้ ไม่มีนโยบายของพรรคใดที่ดูจะ ‘ร้อนแรง’ เท่ากับนโยบายของพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งประเมินกันว่าจะมีราว 50 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินที่ต้องจ่ายออกไปราว 5 แสนล้านบาท

       ภายหลังนโยบายนี้ถูกป่าวประกาศออกมาให้ ‘คนไทย’ ทั้งประเทศรับทราบ ก็มีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาตั้งคำถามถึง ‘ความเหมาะสม’ ของนโยบายดังกล่าวจำนวนมาก 

       พรรคเพื่อไทย อธิบายถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลไว้ว่า จะแจกให้กับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน โดยมีรัศมีการใช้ไม่เกิน 4 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชน

        นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังได้จำลองภาพเหตุการณ์ว่า ผลของการแจกเงินนี้ จะก่อให้เกิดตัวคูณ(Multiplier) ทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการหมุนเวียนในระดับได้ถึง 6 เท่า หรือทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 3 ล้านล้านบาท หนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ราว 5% ต่อปี ในระหว่างปี 2567-2570

สมมติฐานตัวคูณเศรษฐกิจ 6 เท่า ถูกต้องหรือไม่?

     แต่ประเด็นนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามย้อนกลับเช่นกันว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ 6 เท่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าสมติฐานเรื่องนี้ผิดจะยิ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาต่อภาคการคลังในระยะข้างหน้า

      เรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยตั้งคำถามถึงเรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจว่า 

      “ใครเรียนหลักเศรษฐศาสตร์แบบ Keynesian มา จะจำได้ว่า มี concept สำคัญคือ MPC ซึ่งย่อมาจาก marginal propensity to consume หรือสัดส่วนที่คนโดยเฉลี่ยจะนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายบริโภค และ มีสูตรคำนวน fiscal multiplier หลังจากวนๆกันไปหลายรอบแล้วคือ 1/(1-MPC) 

       เช่น ถ้าปกติถ้าคนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยบาท เขาจะเอาไปใช้จ่าย 50 บาท fiscal multiplier ก็จะเท่ากับสอง แปลว่าใช้เงินใหม่หนึ่งบาท จะทำให้เกิดรายได้ใหม่รวมถึงสองบาท!

       และมีหลายเหตุผลที่ทำให้การใช้จ่ายของรัฐ อาจจะไม่ได้สร้างรายได้ใหม่ได้เยอะๆแบบที่สูตรง่ายๆข้างบนบอกเรา”

      อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ ย้ำว่า “เศรษฐกิจมีรูรั่วเต็มไปหมด การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ได้สร้างรายได้ในประเทศทั้งหมด แต่อาจจะหลุดไปกับการนำเข้า ทำให้รายได้ในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับการใช้จ่ายในแต่ละรอบ

       การใช้จ่ายภาครัฐอาจจะมีผลกระทบที่เรียกว่า crowding out effect ที่เกิดจากภาคเอกชนใช้จ่ายน้อยลงเมื่อภาครัฐเข้ามาเป็นคนใช้จ่ายเอง

        หรือผู้บริโภคอาจจะฉลาดกว่าที่โมเดลบอกเรา ถ้ารัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายโดยการสร้างหนี้ ผู้บริโภคอาจจะมองข้ามช็อตไปเลยว่า รัฐบาลคงต้องขึ้นภาษีในอนาคตมาใช้หนี้ ก็เลยอาจจะออมเงินตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า และ GDP อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ต่างจากการ finance ค่าใช่จ่ายโดยภาษีในปัจจุบัน

      นี่คือ concept ที่เรียกว่า Ricardian equivalence  หรือจริงๆเศรษฐกิจอาจจะถูกจำกัดด้วยอุปทาน (supply) มากกว่าอุปสงค์ (demand) เพิ่มค่าใช้จ่ายไป real GDP ก็อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ไปโผล่ที่ราคาที่สูงขึ้นแทน

      นอกจากนี้ ยังมีการพบว่า การใช้จ่ายแต่ละประเภท ยังมี multiplier ไม่เท่ากันอีก และเงินโอนภาครัฐ หรือการแจกเงินให้ประชาชน (แทนที่จะเป็นการใช้จ่าย หรือการลงทุนที่ทำให้เกิดรายได้ในทันที) ปกติแล้วจะมี multiplier ต่ำกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนภาครัฐ

        สาเหตุเพราะเงินโอนไม่ได้ทำให้เกิด GDP ทันทีในรอบแรกที่ใส่เงินลงไป แต่ต้องรอว่าคนที่ได้เงินไป จะสร้างให้เกิด GDP ใหม่โดยการเอาไปใช้จ่าย”

      ดร.พิพัฒน์ ยังระบุด้วยว่า “กรณีของไทย มีการศึกษาจากสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา บอกว่าตัวคูณของเงินโอนทั่วไปเท่ากับ 0.94 และงานศึกษาจาก ธปท. ก็บอกว่าตัวคูณทางการคลังจากเงินโอนอาจจะแค่ 0.4 เท่านั้น

       ผลศึกษาตัวคูณเศรษฐกิจแค่ 0.94-1.94 เท่า

       ทั้งนี้ จากการศึกษาโดย สำนักงบประมาณของรัฐสภา ในหัวข้อ “คู่มือการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดยตัวคูณทางการคลัง(Fiscal Multipliers)” พบว่า การใช้จ่ายของภาครัฐสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งมีตั้งแต่ 0.94-1.94 เท่า

     แบ่งเป็น รายจ่ายประเภทอื่นๆ ที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มีผลกระทบต่อจีดีพีเท่ากับ 1.94 เท่า  ค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เท่ากับ 1.87 เท่า

       รายจ่ายเงินโอนสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เท่ากับ 1.35 เท่า รายจ่ายเพื่อการลงทุน เท่ากับ 1.24 เท่า  รายจ่ายเงินโอนสำหรับประชาชนทั่วไป เท่ากับ 0.94 เท่า

      จะเห็นว่าผลการศึกษาของ สำนักงบประมาณของรัฐสภา ที่มีต่อตัวคูณทางเศรษฐกิจเป็นตัวเลขที่แตกต่างจากสมมติฐานของพรรคเพื่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างกังวล

อดีตผู้ว่าธปท.ชี้ไร้เหตุกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

      นอกจากเรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มีประเด็นเรื่องความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาแสดงความเป็นห่วงอย่างชัดเจน 

       โดยข้อความของ ดร.ธาริษา ถูกโพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Chamnong Watanagase หรือ นายจำนง วัฒนเกส  สามีของเธอ (ซึ่งข้อความนี้ได้ถูกลบออกไปในเวลาต่อมา) โดย ดร.ธาริษา แสดงความเป็นห่วงว่า นโยบายนี้จะสร้างภาระทางการคลังในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน ไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

       ที่สำคัญ ดร.ธาริษา ยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้ด้วย โดยเธอระบุว่า นโยบายแจกเงินนี้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งปีหน้าเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4%

      โดยมีตัวช่วยจากการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมากพอแล้ว ปีหน้าจึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ (ยกเว้นในกรณีจำเป็นอย่างเช่นช่วงโควิดที่หัวรถจักรเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ไม่ทำงาน) เพราะใช้แล้วหมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

ติงทุกพรรคต้องระวังใช้ ‘ยาแรง’ กระตุ้นเศรษฐกิจ

      เช่นเดียวกับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย อีกหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวที่มีต่อนโยบายแจกเงินดิจิทัลว่า ช่วงที่ผ่านมามีหลายคนได้ถามความเห็นในเชิงวิชาการที่ผมมีต่อ “นโยบายเงินดิจิทัล 1หมื่นบาท” ที่คนกำลังให้ความสนใจและเป็นประเด็นถกเถียงกันตอนนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นตามความเข้าใจของตนเองเผื่อจะเป็นประโยชน์นะครับ 

      ขออนุญาตออกตัวว่าโพสต์นี้ไม่ได้จะบอกว่านโยบายนี้หรือนโยบายไหนดีไม่ดีแต่ชวนคิดถึงกรอบในวิเคราะห์ว่ามีคำถามอะไรบ้างที่เราควรถามเพื่อจะประเมินนโยบายนี้ (และนโยบายอื่นๆทำนองนี้) โดยเป็นความเห็นส่วนตัวจากการที่เป็นผู้สนใจด้านเศรษฐกิจการเงินและเทคโนโลยี ไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองใดๆ กรุณาอย่าเอาไปใช้เพื่อเรื่องการเมืองนะครับ 

     ตามพื้นฐานความเข้าใจนี้มีข้อสังเกต/ประเด็นที่ต้องคิดต่อตามนี้:

     1) “ยาแรง”ตอบโจทย์เศรษฐกิจตอนนี้ไหม? 

      จริงๆแล้วคำถามนี้เป็นสิ่งที่ทีมนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคคงต้องพิจารณาให้ดีไม่ใช่แต่พรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะเกือบทุกเจ้าก็มีการเสนอนโยบายอัดฉีดเงินสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆกันทั้งนั้น 

      แต่ประเทศไทยเพิ่งใช้มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาลช่วงโควิดที่ทำให้หนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก ~40% มาเป็นกว่า 60% ของจีดีพี ปัญหาอาจจะมาจากการฟื้นตัวที่กระจายไม่ทั่วถึงมากกว่าแค่ GDP โตไม่พอ จึงต้องไตร่ตรองดีว่ายังเป็นจังหวะที่ยังต้องใช้ “ยาแรง” กระตุ้นเศรษฐกิจหรือควรเป็นช่วงที่ใช้กระสุนการคลังที่มีน้อยลงอย่างระมัดระวังและทำ Targeting ให้ดีขึ้น (รั่วไหลน้อยลง เกาถูกที่คันของ“คนตัวเล็ก”มากขึ้น เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจMSME ฯลฯ)

       นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านยังมองว่าปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางโครงสร้างที่ต้อง “ผ่าตัด” และ “บำบัดรักษา” มากกว่าใช้ยากระตุ้นระยะสั้น 

           2) เอาเงินจากไหน? 

     หากมองว่าเราจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คงต้องดูต่อว่าจะเอาเงินมาจากไหน เท่าที่หาข้อมูลได้ดูเหมือนว่า 

      หนึ่ง จะมาจากเงินภาษีที่คาดการณ์ว่าจะเก็บได้มากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งคงต้องไปดูว่าในอดีตนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ช่วยจีดีพีส่งผลให้เก็บภาษีได้มากขึ้นเยอะจริงหรือไม่แค่ไหน

       สอง อาจมีการโยกเงินอื่นๆมาใช้ตรงนี้แทน ซึ่งแปลว่าต้นทุนคงไม่ถึง 5แสนล้านบาทอย่างที่ได้เห็นกันในข่าว และในทางทฤษฎีหากโครงการนี้สามารถใช้เทคโนโลยีคุมการรั่วไหลได้ดีกว่า ตรงเป้าและโปร่งใสกว่าโครงการเก่าๆก็ย่อมเป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องมาดูกันที่รายละเอียดว่าจะทำได้เช่นนั้นไหม

      สาม อีกทางหนึ่งที่อาจมีคนคิดคือ การสร้างเงินดิจิทัลใหม่ขึ้นมาเลยจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็จะเหมือนให้ธปท “พิมพ์” เงินใหม่ขึ้นมาเลยแต่แทนที่จะพิมพ์เงินแล้วให้กระทรวงการคลัง/รัฐบาลเอาไปใช้ คราวนี้พิมพ์เป็นเงินดิจิทัลแล้วใส่ในมือคนโดยตรงให้เอาไปใช้เลย (บางครั้งเรียกกันว่า “เงินเฮลิคอปเตอร์” เพราะเหมือนโปรยเงินมาจากเฮลิคอปเตอร์) 

       แต่คาดว่าคงไม่ไปทางนี้เพราะเป็นแนวทางที่แหวกตำราพอควรและก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและเรื่องวินัยทางการคลังในอนาคต (เรื่องนี้ยาวขอไม่ลงลึกตรงนี้)

              3) คนเข้าไม่ถึงดิจิทัลจะทำไง?

     มาตราการกระตุ้นทางเศรษฐกิจผ่านช่องทางดิจิทัลมีทำกันในหลายประเทศและหลายรูปแบบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

      ข้อดี คือ อาจจะช่วยกระตุ้นให้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นและร้านค้าเข้าระบบมากขึ้น เพิ่มทักษะดิจิทัล ช่วยการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศได้ 

      ข้อเสียคือ แล้วคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการดิจิทัลล่ะ จะทำอย่างไร? โดยเฉพาะกลุ่ม “คนตัวเล็ก” (เช่น รายได้น้อย อยู่พื้นที่ห่างไกล ร้านค้าที่ยังไม่พร้อมรับเงินดิจิทัล ฯลฯ) ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดมักจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการดิจิทัลน้อยกว่าคนอื่น

      ดังนั้นหากจะทำมาตราการนี้จริงอาจต้องมีนโยบาย/โครงการอื่นๆมาเสริมเพื่ออุดช่องว่างสำหรับคนที่ยังเข้าไม่ถึงดิจิทัลด้วย 

          4) ควรใช้เงินบาทดิจิทัลหรือไม่?

      ยอมรับว่าข้อมูลตรงนี้ยังไม่ค่อยชัดเท่าไรว่านโยบายนี้จะใช้ CBDC (เงินบาทดิจิทัลออกโดยธปท) หรือไม่ แต่หากคิดจะใช้ก็จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินใหม่ขึ้นมาเสมือน ‘ระบบถนนใหม่’ สำหรับการเงินที่แตกต่างจากที่มีในปัจจุบันอย่างพร้อมเพย์ 

      ในปัจจุบันแม้ระบบการชำระเงินดิจิทัลจะพัฒนาไปมากแต่พวกนอนแบงก์และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆที่มีวอลเลทของตนเองยังไม่ได้เชื่อมกับระบบพร้อมเพย์ที่ส่วนใหญ่เป็นฝั่งธนาคารใช้อย่างเต็มที่      

       หากCBDCกลายมาเป็นระบบเพย์เมนต์กลางที่เชื่อมทุกเจ้าเข้ามาด้วยกันได้เสมือนเป็นถนนที่ต่อกันหมดและกำกับดูแลโดยธปทก็อาจจะเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาที่มีประโยชน์ (แต่ต้องระวังไม่ควรให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งคุมโครงสร้างพื้นฐานนี้)

      นอกจากนี้ CBDC ยังอาจมีข้อดีอื่นๆ เช่น สามารถเขียนโปรแกรมตั้งเงื่อนไขต่างๆในการใช้เงินประเภทนี้ได้เช่น ต้องใช้กับร้านค้าในชุมชนตัวเองเท่านั้น ให้ส่วนลดพิเศษหากซื้อขายจากธุรกิจ MSME ใช้ภายในเวลาจำกัด ฯลฯ  (แต่ต้องใช้เทคโนโลยีหลายอย่างประกอบกันไม่ใช่บล็อกเชนเท่านั้น)

        แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่ไอเดียกับความเป็นไปได้ต้องมาดูรายละเอียดกันดีๆ เพราะการดีไซน์ CBDC นั้นทำได้หลายรูปแบบและมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงหากไม่ระมัดระวัง

        ต้องเลือกฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศ เช่น จะเป็นแบบใช้บล็อกเชนหรือไม่ (เพราะจริงๆไม่ต้องใช้บล็อกเชนก็ได้), จะให้ใช้ในปริมาณจำกัดหรือโนลิมิตแทนเงินสดได้หมดเลย, เป็นแบบที่ทุกคนมีบัญชีเงินดิจิทัลของตนเองที่รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้ว่าใครใช้เงินที่ไหนถ้าจำเป็น (คล้ายบัญชีธนาคารปัจจุบัน) หรือเป็นแบบที่ดูไม่ได้ว่าใครใช้อะไรไปที่ไหน (คล้ายเงินสด) ฯลฯ

        ส่วนตัวมองว่าหากเป็นตามที่เข้าใจ ไอเดียนี้น่าสนใจแต่ยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มีรายละเอียดเยอะจึงอาจต้องมีการทดลองและศึกษาให้ดีก่อนในรูปแบบจำกัด (เช่น Sandbox) ก่อนที่จะสเกลไปทั่วประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าทางธปทก็มีการศึกษาทดลองมาเรื่อยอยู่แล้ว

 ทิ้งท้าย: 2 ร่างใน 1 นโยบาย

     สุดท้ายขอตั้งข้อสังเกตว่า นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” สามารถวิเคราะห์ได้จากทั้งมุมเศรษฐกิจและมุมเทคโนโลยี เพราะมีอย่างน้อย 2 เป้าหมายใหญ่ หนึ่ง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นช่วยเศรษฐกิจชุมชน และ สอง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินใหม่สำหรับอนาคตโดยใช้เงินบาทดิจิทัล 

     ความเห็นของคนที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งสะท้อนว่ามองนโยบายนี้จากมุมไหน

      บางคนอาจเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่ไม่แน่ใจว่าการทำผ่านเงินบาทดิจิทัลหรือบล็อกเชนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะเทคโนโลยียังไม่นิ่งและมีคนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัล

      บางคนอาจเห็นด้วยกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่สำหรับอนาคตแต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เม็ดเงินจำนวนมากมากระตุ้นเศรษฐกิจและดันการใช้เงินดิจิทัลในตอนนี้

       และแน่นอนบางคนอาจเห็นด้วยทั้งสองอย่าง หรืออาจไม่เห็นด้วยเลยสักข้อ 

       แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายไหนของใครก็ตาม การมีไอเดียนโยบายออกมาเปิดให้มีการถกเถียงกันเยอะๆเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดการตกผลึกและหวังว่าจะนำไปสู่เวอร์ชั่นสุดท้ายที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยที่สุดครับ