จริงไหม? บริจาค-อุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีได้เป็นหมื่น

ชอบพรรคไหน ให้พรรคนั้น! รู้หรือไม่ว่า เราสามารถนำเงินบริจาคให้พรรคการเมืองไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ เงินภาษีที่เราต้องชำระ ยังช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองที่ชื่นชอบได้อีกด้วย
หากใครที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาแล้วหลายครั้ง คงทราบดีว่าสามารถนำเงินบริจาคให้แก่พรรคการเมือง มาช่วยลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้ที่มีรายได้สูง เนื่องจากสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 10,000 บาท
แต่ก่อนหน้าที่จะนำเงินบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้นั้น กรมสรรพากร ได้ออกประกาศให้ผู้มีรายได้ที่ชื่นชอบพรรคการเมือง สามารถอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองนั้นๆ ได้ ซึ่งนอกจากจะนำเงินบริจาคให้พรรคการเมืองในปีภาษีนั้นๆ มาลดหย่อนภาษีได้แล้ว เงินภาษีที่ต้องชำระยังช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองที่ชื่นชอบได้อีกด้วย
ทั้งนี้ จะนำเงินบริจาคที่ให้แก่พรรคการเมืองมาลดหย่อนภาษีได้อย่างไร หรือเงินภาษีที่ผู้มีรายได้ต้องชำระ นำมาสนับสนุนพรรคการเมืองแบบไหนได้ ต้องจ่ายเงินไหม และนำเงินภาษีที่อุดหนุนพรรคการเมืองมาลดหย่อนภาษีได้อีกหรือไม่ ต้องไปติดตาม...
- สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง
การบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองในช่วงระหว่างปีภาษี ผู้บริจาคเงินที่เสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) สามารถนำเงินบริจาคหรือการสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองไปใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 10,000 บาท
ในกรณีที่บริจาคให้กับหลายพรรคการเมือง สามารถรวมเงินบริจาคแต่ละพรรคมาหักลดหย่อนได้ แต่เมื่อรวมแล้วลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 10,000 บาท โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- ถ้าบริจาคด้วยเงินสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าบริจาคด้วยทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน จะต้องบริจาคสนับสนุนเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนเท่านั้น
ส่วนผู้เสียภาษีในนามบริษัทนิติบุคคล (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) หากมีความประสงค์จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ตามจริง แต่รวมกันไม่เกิน 50,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
- เกณฑ์อุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง
สำหรับ ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ชื่นชอบพรรคการเมืองต่างๆ และมีความประสงค์อยากสนับสนุนเงินให้กับพรคคการเมืองนั้นๆ กรมสรรพากรออกประกาศให้บุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง) สามารถอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ โดยแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี
โดยผู้เสียภาษีสามารถแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกิน 500 บาท โดยมีหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังนี้
1.ผู้เสียภาษีที่สามารถอุดหนุนเงินภาษีได้นั้น ต้องคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 ประจำปีแล้วมีเงินภาษีที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีจึงจะสามารถแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกิน 500 บาท ตามหลักเกณฑ์คือ
1.1 ต้องแสดงเจตนาไว้ในแบบ ภ.ง.ด.90/91 โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองหรือไม่อุดหนุน ต้องระบุรหัสรายชื่อพรรคการเมืองที่ต้องการอุดหนุน และต้องระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุน หากไม่ระบุความประสงค์ หรือไม่ระบุรหัสรายชื่อพรรคการเมือง หรือไม่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุน ให้ถือว่าไม่ได้แสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง
กรณีที่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ประสงค์จะอุดหนุนเกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือเกินกว่า 500 บาท ให้ถือว่าประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีเพียงจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระนั้น หรือจำนวน 500 บาทแล้วแต่กรณี
1.2 แสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีได้เพียง 1 พรรคการเมือง และเมื่อได้แสดงเจตนาแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากแสดงเจตนาเกินกว่า 1 พรรคการเมือง ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมืองใด
1.3 เงินภาษีที่ได้แสดงเจตนาอุดหนุนให้แก่พรรคการเมือง ไม่สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้
1.4 กรณีสามีภรรยาต่างฝ่ายต่างเป็นผู้เสียภาษี และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 รวมกันและรวมคำนวณภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิระบุความประสงค์ของตนเองในแบบ ภ.ง.ด.90/91
2.พรรคการเมืองที่ผู้เสียภาษีจะอุดหนุนเงินภาษีให้ได้ในปีภาษีใด จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนพรรคการเมืองในปีภาษีนั้น
โดยพรรคการเมืองที่สิ้นสุดความเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายในปีภาษีใด ให้ถือเสมือนว่าไม่มีพรรคการเมืองนั้นที่จะได้รับการแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีในปีภาษีนั้น สามารถตรวจสอบข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง หากคำนวณภาษีแล้วมีเงินภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป และมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าเงินภาษีที่ต้องชำระ กรมสรรพากรจะหักเงินบริจาคจากเงินภาษีที่ต้องชำระ และยังคงขอคืนเงินภาษีที่จ่ายไว้ล่วงหน้าคืนได้ตามปกติ
สรุป
สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีค่อนข้างสูง การบริจาคเงินสนับสนุนให้กับพรรคการเมือง ถือเป็นหนึ่งช่องทางในการช่วยลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 10,000 บาท และหากชื่นชอบพรรคการเมืองใด ก็ยังสามารถอุดหนุนเงินภาษีที่ต้องชำระให้แก่พรรคการเมืองตอนที่ยื่นภาษีได้อีกด้วย
ทั้งนี้ นอกจากจะเพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของผู้เสียภาษีแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง สามารถดำรงอยู่เป็นตัวแทนของประชานได้ต่อไปอย่างมั่นคง
----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting