กองทุนผสมยุคใหม่...ตอบโจทย์ในทุกสภาพตลาด
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความผันผวนกับการลงทุนถือเป็นของคู่กัน และเครื่องมือที่นักลงทุนมักจะใช้ในการจัดการความผันผวน
ก็คือ การแบ่งเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และอาจรวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างน้ำมัน และทองคำ ซึ่งการกระจายการลงทุนนั้นมักใช้ได้ผลในภาวะตลาดปกติ
แต่ในภาวะที่ตลาดเผชิญความผันผวนจากปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน หรือเมื่อเกิดวิกฤติ ก็อาจจะทำให้สินทรัพย์หลายประเภทปรับลงพร้อมๆ กันได้ อย่างที่เราเผชิญในปี 2022 ที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อที่ร้อนแรง
ทำให้ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และทองคำ ให้ผลขาดทุน หรือในปี 2018 ที่ หุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงราคาน้ำมันและทองคำปรับลดลงพร้อมๆ กัน กดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซ้ำเติมด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ในสภาวะตลาดไม่ปกติที่ทุกสินทรัพย์เผชิญความผันผวนและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน ทำให้การกระจายเงินลงทุนแบบดั้งเดิมอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตได้อีกต่อไป จึงต้องอาศัยการลงทุนผ่านกองทุนผสมยุคใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ดังนี้
- ยึดหลัก Risk-Based Allocation คือการกระจายความเสี่ยงโดยอิงจากค่าความเสี่ยงของสินทรัพย์ ไม่ใช่การกระจายเงินต้น โดยการแบ่งเงินลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้เท่าๆ กันนั้น ไม่ใช่การกระจายความเสี่ยงอย่างแท้จริง เนื่องจากหุ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ราวๆ 3 เท่า ทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตส่วนใหญ่มาจากหุ้น ดังนั้นจึงต้องลงทุนในหุ้นน้อยกว่าตราสารหนี้ 3 เท่า เพื่อให้สัดส่วนของความเสี่ยงจากทั้งสองสินทรัพย์เท่ากัน
2.เพิ่มสินทรัพย์ลงทุนให้กว้างขวางขึ้น ไม่เพียงแต่ตราสารหนี้ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ แต่รวมทั้งตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนเชื่อมโยงกับเงินเฟ้อและความผันผวนของตลาดด้วย
3.ปรับพอร์ตอย่างฉับไวและเป็นระบบ โดยมีกลไกจำกัดผลขาดทุนให้อยู่ในกรอบที่กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามวิกฤติ ในทางกลับกันก็สามารถเพิ่มการลงทุนให้กลับมาอย่างรวดเร็วในช่วงตลาดฟื้นตัว ซึ่งไม่ได้ทำด้วยการเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยง เพราะจะทำให้พอร์ตเสียสมดุล แต่จะใช้วิธีสร้างอัตราทด (Leverage) โดยลงทุนในอนุพันธ์แทนการซื้อสินทรัพย์โดยตรง เสมือนการกู้ยืมมาเพื่อเพิ่มขนาดของการลงทุน
ในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาพรวมการลงทุนถือว่าดูดีขึ้นมากจากปีที่แล้ว หนุนจากปัจจัยบวกที่ FED ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด และมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีนี้หลังเงินเฟ้อปรับลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ ไม่ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2023 สินทรัพย์หลักเกือบทุกประเภทให้ผลตอบแทนเป็นบวก ทั้งหุ้นโลก พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน รวมไปถึงทองคำ
แต่ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันจะกลับมาผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และจะเป็นความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก หลังจากที่ล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ ประกาศลดกำลังผลิตวันละกว่า 1 ล้านบาร์เรลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นปี ในขณะเดียวกันด้านความต้องการน้ำมันยังคงแข็งแกร่ง
โดย OPEC คาดการณ์อุปสงค์อยู่ที่ 101.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เติบโต 2.3 ล้านบาร์เรลจากปีที่แล้ว หนุนจากทั้งเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศจีน ที่เติบโตต่อเนื่อง และการเดินทางโดยอากาศยานที่มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess demand)
นอกจากนั้นยังต้องจับตาวิกฤติสภาพคล่องภาคธนาคาร ที่จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ประกอบกับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะทางการเงินตึงตัวและอาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงได้
ในภาวะที่มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่มีผลต่อตลาดการลงทุนเช่นนี้ นอกเหนือจากการกระจายความเสี่ยงแล้ว ความคล่องตัวในการปรับพอร์ตลงทุนก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์ลงทุนระยะยาว เพราะการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกลับมาเมื่อตลาดเป็นขาขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ก็สำคัญไม่แพ้การลดความเสี่ยงเมื่อตลาดเป็นขาลงเพื่อลดผลขาดทุน