เปิดแนวทาง 'วางแผนภาษี' สำหรับ 'มนุษย์เงินดือน'
เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี อัตราภาษีคิดแบบไหน มีลดหย่อนอะไรได้บ้าง ฯลฯ มนุษย์เงินเดือนควรรู้ เพื่อวางแผนยื่นภาษีแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ถูกต้อง ไม่ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง
จากสถิติการยื่นภาษีของมนุษย์เงินเดือน หลายๆกรณี บริษัทมักจะเป็นผู้ยื่นภาษีประจำปีให้ (ภ.ง.ด.91) แต่จะเป็นกลุ่มคนที่เงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี จึงทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคน ไม่ทราบว่าตนเองต้องมีการยื่นภาษี จนกระทั่งถึงช่วงที่เจ้าตัวมีเงินเดือนถึงเกณฑ์ ก็มักจะหลงลืมไม่ได้ยื่นเสียภาษี รวมถึงหลายๆ รายยื่นภาษีไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง และอาจเสียภาษีเพิ่ม รวมถึงค่าปรับต่างๆ นานา โดยไม่ได้ตั้งใจ
ดังนั้น แม้จะเป็นพนักงานเงินเดือน ลูกจ้างประจำ ไม่ได้มีรายได้จากงานเสริมอื่นๆ เพิ่มเติมให้ต้องยุ่งยากในการยื่นภาษี แต่ก็จำเป็นต้องวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับพนักงานประจำไว้ เนื่องจากในบางเดือนอาจมีเงินพิเศษที่ได้รับจากบริษัท ซึ่งมีหลายประเภทที่ต้องนำมารวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
- รายได้ของพนักงานแบบไหน ต้องนำมารวมยื่นภาษี
สำหรับลูกจ้างประจำที่ได้รับเป็นเงินเดือนอย่างเดียว ตามหลักการเมื่อมี "ฐานเงินเดือน" เกิน 26,583.33 บาท หรือถ้าไม่ได้จ่ายประกันสังคมเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท ก็ถึงเวลาที่ต้องเสียภาษีแล้ว และถ้าหากลูกจ้างมีรายได้เพิ่มเติมที่ได้รับจากนายจ้าง จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย ซึ่งเงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา 40 ได้แก่
“เงินเดือน โบนัส ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าล่วงเวลา (OT) ค่าเดินทาง เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง ค่าอาหารจากนายจ้าง เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระเงินได้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มจากการทำงาน ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อยื่นภาษี”
ยกเว้นนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญากันก่อนใช้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 มีข้อกำหนดว่า นายจ้างจะชำระเงินบำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม เงินค่านายหน้า หรือเงินโบนัสส่วนที่เป็นค่าจ้างแรงงาน ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
- หลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หลังจากทราบว่าตนเองได้รับเงินจากนายจ้างแบบไหนบ้าง ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นภาษีแล้ว หลักการสำคัญในการวางแผนภาษีสำหรับพนักงานเงินเดือน คือควรเข้าใจวิธีคำนวณภาษีเองได้ เพื่อให้ทราบคร่าวๆ ว่าจะต้องเสียภาษีเท่าไร และสามารถเตรียมเงินชำระได้เพียงพอ หรือเมื่อคำนวณแล้วพบว่าต้องเสียภาษีสูง ก็ยังมีเวลาก่อนยื่นภาษีในการหาช่องทางลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อลูกจ้างได้รับเงินจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามสูตรคือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)
x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย
จากนั้นนำมาเปรียบเทียบตามอัตราภาษีก้าวหน้า ดังนี้
- รายได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น
- รายได้สุทธิ 150,001 - 300,000 อัตราภาษี 5%
- รายได้สุทธิ 300,001 - 500,000 อัตราภาษี 10%
- รายได้สุทธิ 500,001 - 750,000 อัตราภาษี 15%
- รายได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 อัตราาภาษี 20%
- รายได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 อัตราค่าภาษี 25%
- รายได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 อัตราภาษี 30%
- รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
โดยให้ผู้มีรายได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปที่กรมสรรพากร หรือยื่นผ่านทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน
- คำนวณแล้วเสียภาษีอื้อ อย่าลืมหา "ค่าลดหย่อน" ต่างๆ มาช่วย
ในการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้สามารถหักค่าใช้จ่าย และนำค่าลดหย่อนที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด มาช่วยลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนสูงเสียภาษีน้อยลง หรืออาจไม่ต้องเสียภาษีเลยก็เป็นได้ โดยแบ่งได้ดังนี้
1.ค่าใช้จ่าย รายได้จากเงินเดือน โบนัส และรายได้ต่างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว จัดอยู่ในกลุ่มเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (มาตรา 40(1)) สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2.ค่าลดหย่อนอื่นๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ
2.1 กลุ่มลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ใช้เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานสำหรับทุกคนที่มีรายได้
- คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 60,000 บาท คู่สมรสที่จดทะเบียน หากไม่มีรายได้จะสามารถลดหย่อนได้เพิ่มอีก 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริง หรือสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท หากมีบุตรตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะเพิ่มค่าลดหย่อนเป็นคนละ 60,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา (คนละ) 30,000 บาท สามารถใช้ลดหย่อนได้หากบิดามารดาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท และอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรณีที่มีพี่น้องหลายคน จะใช้สิทธิ์ได้แค่คนเดียว ซึ่งอาจสลับกับพี่น้องคนละปีก็ได้
- อุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาท หากมีการดูแลคนพิการสามารถนำมาลดหย่อนได้ 60,000 บาท/คน
2.2 กลุ่มลดหย่อนการประกันและการลงทุน
- เงินสมทบประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงในรอบปีภาษีนั้น
- ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต 100,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเองแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตนเอง 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพบิดา-มารดา 15,000 บาท
- ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 13,200 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2.3 กลุ่มลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาค
- บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน โดยบริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น
- บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท
2.4 กลุ่มลดหย่อนพิเศษ (มาตรการรัฐ)
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 100,000 บาท
อย่างไรก็ตามมนุษย์เงินเดือนอย่าเพิ่งตกใจ ว่าตนเองจะต้องเสียภาษีแล้วใช่ไหม เพราะหากลองวางแผนภาษีตามแบบที่ได้แนะนำนี้ คุณอาจเสียภาษีน้อยลงหากวางแผนภาษีได้ดี หรือไม่เสียภาษีเลยก็เป็นได้
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่