First Republic เสี่ยงล้มตาม SVB พบลูกค้ากระจุกตัว เงินฝาก 60% ไร้หลักประกัน
ข้อมูลชี้ เฟิร์ส รีพับบลิก แบงก์ มีฐานลูกค้ากระจุกตัวคล้าย “SVB” รวมทั้งเงินฝากของ FRC ประมาณ 2 ใน 3 ไม่มีประกันที่ทำร่วมกับ FDIC กูรูชี้ มีโอกาสน้อยที่จะคงสถานะบริษัทแบบ “Standalone” ไว้
Key Points
- สถานการณ์ของ FRC มีความคล้ายกับ SVB ตรงที่เป็นธนาคารระดับภูมิภาคขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าแบบ กระจุกตัวสูง
- วันพุธที่ผ่านมา หุ้น FRC ร่วงลง 30% หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้าลงไป 49%
- เงินฝากของ FRC ประมาณ 2 ใน 3 นั้นไม่มีประกันที่ทำร่วมกับ FDIC
- กูรูประเมินมีโอกาสน้อยมากที่ FRC จะผ่านสถานการณ์นี้ไปโดยยังคงสถานะ “Standalone” อยู่
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ออกบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารเฟิร์ส รีพับบลิก แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRC ว่า อาจล่มสลายตามรอยอดีตคู่แข่งอย่างซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) หรือ SB ไป
โดย FRC มีความคล้ายกับ SVB ตรงที่เป็นธนาคารระดับภูมิภาคขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าแบบ “กระจุกตัวสูง” และจำนวนเงินฝากจำนวนมากไม่มีหลักประกันมี และมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized Losses) จริงในหุ้นกู้และตั๋วเงินคลังจำนวนมาก
โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีข่าวลือจากแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนาม จำนวนมากในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่า FRC หวังขายสินทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อนำเงินมากู้สถานการณ์ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากทำเนียบขาว (แต่ก็มีบางสื่อที่รายงานว่ารัฐบาลต้องการให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน)
รวมทั้งข่าวที่ว่า บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FIDC) อยู่ในขั้นตอนพิจารณาปรับลดหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อที่จำเป็นจากธนาคารกลาง (Fed) หรือ Federal Reserve Loans
อย่างไรก็ตาม ทั้ง เฟด, เอฟดีไอซี และทำเนียบขาวไม่ตอบสนองต่อการขอสัมภาษณ์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หุ้น FRC ร่วงลงเกือบ 30% หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้าลงไปแล้ว 49% โดยทางการประกาศหยุดการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กหลายครั้งเนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับ FRC
หนึ่งสิ่งที่เรารู้แน่นอน คือปริมาณเงินฝากในไตรมาสแรกของปี 2566 ของ FRC ร่วงลง 41% มาอยู่ที่ 1.045 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) แม้ว่าหลังจากนั้น คณะกรรมการธนาคารหลายแห่ง (A Consortium of Banks) จะให้ความช่วยเหลือเป็นเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.9 แสนล้านบาท) เพื่อกู้สถานการณ์ เพราะหากไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ เงินฝากจะลดลงกว่า 50%
แต่สิ่งสำคัญคือ FRC ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าจำนวนเงินฝากจะลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากการล่มสลายของ SVB และ SB เมื่อเดือนที่แล้ว ทว่าความเป็นไปของระบบภายในของธนาคารนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพนับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เป็นต้นมา
นอกจากนี้ เรายังทราบด้วยว่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ของ FRC ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงจำนวนเงินที่ธนาคารได้รับจากการให้กู้ยืมและการกู้ยืมนั้นลดลงกว่า 19.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี รวมทั้งบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ประเมินว่า “ FRC มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสภาพคล่องในอนาคต”
โดยเมื่อวิกฤติในภาคธนาคารปะทุขึ้นในช่วงกลางเดือนมี.ค. เงินฝากของ FRC ประมาณ 2 ใน 3 นั้นไม่มีประกันที่ทำร่วมกับ FDIC
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) พบว่า เมื่อสิ้นปี 2565 FRC มีอัตราส่วนสินเชื่อและลงทุนระยะยาวต่อเงินฝากสูงเป็นพิเศษถึง 111% ทั้งหมดหมายความว่า FRC ปล่อยกู้และลงทุนเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าจำนวนเงินฝากของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็น ประเมินอีกว่า ในระยะสั้น ภาพรวมของ FRC ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้าน เดวิด เชียเวรินี (David Chiaverini) กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยตราสารทุนของบริษัทหลักทรัพย์ เวดบุช (Wedbush) กล่าวว่า มีโอกาส “เล็กน้อย” ที่ FRC จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้จนจบวิกฤติในฐานะบริษัทเดี่ยว (Standalone) เพราะมีแนวโน้มที่บริษัทจะพยายามขายสินเชื่อและหลักทรัพย์บางส่วนออกไปในราคาเดียวกับที่ซื้อมา โดยผู้ซื้อจะได้รับดอกเบี้ยหุ้นบุริมสิทธิ (A Preferred Equity Interest) จากบริษัท