ดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องเสียภาษีจริงไหม?

ดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องเสียภาษีจริงไหม?

อยากออมเงินต้องเข้าใจ! "ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์" และ "ผลตอบแทนเงินฝาก" ถือเป็นรายได้ และต้องนำมาคำนวณภาษี แต่มีกรณีได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีแล้ว เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ทางภาษีของกรมสรรพากร ในเรื่องเงินฝากธนาคาร หากผู้มีรายได้มีเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน บัตรเครดิตต่างๆ สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร คือ

- มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร

- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และจำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าจะทำให้กรมสรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือยัง และหนึ่งในข้อมูลที่นำมาประกอบการเรียกเก็บเงินภาษีของกรมสรรพากร คือ “ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์” นั่นเอง

โดยดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของผู้มีรายได้ จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถทราบรายได้ของคุณได้ จากการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากที่สถาบันการเงินส่งให้กับกรมสรรพากร และหากมีรายได้ผิดปกติอาจมีผลให้ถูกตรวจสอบ ตลอดจนถูกเรียกเก็บภาษีได้ หากรายได้และดอกเบี้ยของคุณถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในครั้งนี้จะขออธิบายเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มเติมดังนี้

  • ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แบบไหน “ยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย”

เนื่องจากการออมเงินกับธนาคารพาณิชย์มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้ออมเงินจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยจากการออมเงิน หากเป็นการออมเงินประเภทออมทรัพย์ โดยปกติธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยให้ผู้ฝากทุกวัน แต่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากปีละ 2 ครั้ง คือในเดือนมิถุนายนและธันวาคม ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวดก็จะมารวมเป็นเงินต้นสำหรับคิดดอกเบี้ยในแต่ละวันต่อไปด้วย

โดยดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝาก ทางด้านภาษีจะต้องถูกหักภาษี แต่สามารถได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1.ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษี

2.ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องเป็นของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก

3.ผู้มีเงินได้ต้องไม่แจ้งธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ว่าไม่ให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ย และผลตอบแทนเงินฝากให้กับกรมสรรพากร

  • ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แบบไหน “ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย”

จากประกาศของกรมสรรพากรล่าสุด ได้กำหนดให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ดังนั้น หากผู้มีเงินได้ที่ไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร จะต้องไปแจ้งความประสงค์กับธนาคาร และต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยในอัตรา 15% โดยทางธนาคารจะดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นี้

จากนั้นให้ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ตามรูปแบบที่ธนาคารกำหนด นำส่งข้อมูลต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของ www.rd.go.th และเก็บหลักฐานการยินยอมไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ระยะเวลาในการนำส่งภายในกำหนดเวลา ดังนี้

1.สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากในครึ่งปีแรก โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ให้นำส่งภายในวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้น

2.สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการคำนวณเพื่อจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปี โดยคำนวณถึงวันที่ 15 พฤศจิกายนให้นำส่งภายในวันที่ 20 พฤศจิกายนของปีนั้น

3.สำหรับข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากในครึ่งปีแรก ซึ่งได้จ่ายเงินก่อนหรือในวันที่ 30 มิถุนายน ให้นำส่งภายในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น

4.สำหรับข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทั้งปี ซึ่งได้จ่ายก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม ให้นำส่งภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป

ทั้งนี้ หน้าที่ของธนาคารหากผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูล ธนาคารต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี แต่ถ้าหากผู้มีเงินได้ไม่ไปแจ้งความประสงค์กับธนาคาร แล้วธนาคารไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่ง อาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน

สรุป

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์หรือผลตอบแทนเงินฝากที่ผู้มีเงินได้ได้รับ ธนาคารมีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ทว่าหากไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร จะต้องแจ้งความประสงค์กับธนาคาร แต่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยในอัตรา 15%

แต่ในกรณีที่ดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทขึ้นไป ธนาคารมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี พร้อมกับถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยในอัตรา 15% จากนั้นเมื่อถึงช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี ผู้มีเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน สามารถขอคืนเงินภาษีได้

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting