วิกฤติแบงก์ยังไม่จบ กูรูชี้ เฟิร์ส รีพับลิค แค่รายล่าสุด ไม่ใช่รายสุดท้าย
เปิดสาเหตุการล่มสลายของ “ธนาคารเฟิร์ส รีพับลิค” หรือ FRC ก่อนที่เจพี มอร์แกน จะประกาศเข้าซื้อกิจการ หลังหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐเข้ายึด นักวิเคราะห์ฟันธงเป็นผลพวงจาก SVB และสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ยัน “วิกฤติยังไม่จบ”
Key Points
- เจพี มอร์แกน เชส ประกาศเข้าซื้อ FRC
- การล่มสลายของ FRC เกิดมาจากวิกฤติความเชื่อมั่นที่ลามมาจาก SVB ปัญหาสภาพคล่อง และ สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
- นักวิเคราะห์ FRC ไม่ใช่รายสุดท้าย
- เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งก่อนชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อประคับประคองสถานการณ์ในภาคการเงิน
- เฟดให้ความสำคัญกับการสกัดเงินเฟ้อมากกว่าวิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์
แม้บรรดานักวิเคราะห์จะประเมินว่าฝุ่นที่ “ตลบอบอวล” จากความปั่นป่วนในภาคธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐ ที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่การล่มสลายของซิลเวอร์เกต แคปปิตอล (Silvergate Captital) ธนาคารที่เน้นให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ผู้ปล่อยกู้ให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
ทว่า ทั้งสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับปัญหาเฉพาะตัวส่งผลให้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่ “เฟิร์สท์ รีพับลิค แบงก์” (First Republic Bank) หรือ FRC ธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 14 ของสหรัฐ ด้วยสินทรัพย์ 2.12 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7 ล้านล้านบาท)
โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา หุ้นของธนาคารดังกล่าวย่อตัวลงไปมากถึง 30% หลังจากหนึ่งวันก่อนหน้าปรับฐานลงไปแล้วกว่า 49% จนหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐจำเป็นต้องประกาศหยุดการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กหลายครั้งเนื่องจากตลาดมีความผันผวนสูง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า ธนาคารจำนวนมาก รวมทั้ง FRC ได้รับสภาพคล่องจำนวนมากจากนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเงินฝากของธนาคารฯ เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากปี 2562 มาอยู่ที่ประมาณ 1.76 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) ณ ปลายปี 2022 ดังนั้นธนาคารฯ จึงจำเป็นต้องเร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 85% ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ส่งผลให้ธนาคารฯ โตอย่างก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า
“จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในตอนนั้นทำให้การดูแล ควบคุม ความเสี่ยงต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น ทุกอย่างดูเหมือนจะดี แต่จริงๆ แล้ว ซ่อนปัญหาเอาไว้ ผู้ฝากเงินที่เป็นรายใหญ่ พร้อมแห่ถอน สินเชื่อที่เร่งปล่อย คุณภาพน่าจะลดลง ทำให้ภาคเอกชนที่สนใจ ก็คงหนักใจที่จะเข้าอุ้ม ท้ายสุด เมื่อหมดทาง ก็คงเหลือแต่ทาง ที่ทางการต้องเข้าไปยึด เพื่อล้างปัญหาที่สะสมไว้”
ประกอบในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารฯ เปิดเผยว่า ปริมาณเงินฝากในไตรมาสแรกของปี 2566 ร่วงลง 41% มาอยู่ที่ 1.045 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) และ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 ลดลงกว่า 19.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี
จากความปั่นป่วนข้างต้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 พ.ค. 2566) สำนักข่าวจำนวนมากรายงานเป็นเสียงเดียวกันว่า หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เข้ายึด (Seize) FRC และสั่งการให้บรรษัทคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (FDIC) เข้าดูแลเงินฝากทั้งหมด ประกอบกับหาช่องทางขายสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อนำเงินมาแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานวันนี้ (2 พ.ค.) ว่า เจพี มอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) ผู้ให้บริการทางการเงินและการลงทุนระดับโลก เตรียมจ่ายเงินจำนวน 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) ให้ FDIC เพื่อเข้าซื้อกิจการของ FRC โดยมีจุดประสงค์อยู่ที่ “กลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง” ของธนาคารดังกล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก เวลล์ส ฟาร์โก (Wells Fargo) บริษัทให้บริการทางการเงิน สัญชาติอเมริกัน ระบุว่า ปัจจุบันเงินฝากทั้งหมดของเจพี มอร์แกนอยู่ที่มากกว่า 10% ของอัตราเงินฝากทั้งหมดของสหรัฐ โดยหากเจพี มอร์แกนได้ฐานลูกค้าจาก FRC อัตราเงินฝากของธนาคารฯ อาจเพิ่มขึ้นอีก 3%
ด้าน เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน กล่าวว่า “ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกำลังจะจบลง และผมหวังว่าการช่วยเหลือครั้งนี้จะสร้างเสถียรภาพให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง” พร้อมเสริมว่า “หลังจากประกาศเข้าซื้อ เราก็ได้รับรู้ผลลัพธ์ด้านบวก และผมก็มองว่าระบบธนาคารของสหรัฐยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี”
ทั้งนี้ ไดมอน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจพีมอร์แกนจะรับผิดชอบซื้อ
- พอร์ตสินเชื่อของ FRC ประมาณ 1.73 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.709 ล้านล้านบาท)
- หลักทรัพย์ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.9 แสนล้านบาท)
- เงินฝาก มูลค่า 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.036 ล้านล้านบาท)
ส่วน โจนาธาน แมคเคอร์แนน (Jonathan McKernan) หนึ่งในคณะกรรมการจาก FDIC กล่าวว่า
“ท่ามกลางระบบการเงินที่มีพลวัตและมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เราต้องยอมรับสิ่งหนึ่งที่ว่าความล้มเหลวของธนาคารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
แมคเคอร์แนน กล่าวเสริมว่า “เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน เราควรวางแผนเพื่อรับมือกับการล่มสลาย โดยกำหนดเกณฑ์เงินทุนตั้งต้นที่มากพอ (Strong Capital Requirements) และกำหนดกรอบการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งหมดเป็นความหวังที่ดีที่ต้องการยุติวัฒนธรรมการจ่ายอุ้มกิจการ (Bailout) ของสหรัฐ ที่มุ่งเน้นแต่การแปลงทุนเป็นกำไร ในขณะที่สังคมเป็นผู้ขาดทุน"
ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า การล่มสลายของ FRC ครั้งนี้เป็นผลมาจากทั้ง สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วิกฤติความเชื่อมั่นซึ่งลามมาจาก SVB และ ปัญหาสภาพคล่อง
“ไม่ว่าธนาคารใดก็ตาม หากผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ ประกอบกับปัญหาแบงก์รันมาเรื่อยๆ ฐานะทางการเงินก็ได้รับผลกระทบแน่นอน โดยสมัยก่อน FRC มีแหล่งที่มาเงินทุน (Funding Sources) จากเงินฝากซึ่งดอกเบี้ยต่ำมาก เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปธนาคารมักจะกู้ต่ำและไปปล่อยกู้สูงเพื่อทำกำไร”
“แต่พอเกิดปัญหาแบงก์รัน ต้นทุนทางการเงินอยู่ดี ๆ ก็สูงขึ้นเลย สมมุติมีต้นทุนฐานเงินฝากอยู่ที่ 1-2% แต่พอเงินฝากไหลออกก็ต้องไปกู้ขอความช่วยเหลือจากเฟด หรือจากธนาคารอื่น ต้นทุนทางการเงินปัจจุบันกลับพุ่งขึ้นไป 4-5% จากเดิมที่เคยดำเนินงานแบบเดิมแล้วได้กำไร แต่พอดอกเบี้ยขึ้น ก็ไม่ได้กำไรแบบเดิม ที่เล่ามาคือส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหา”
เมื่อถามว่าวิกฤติในครั้งนี้มีโอกาสลามไปจนกระทั่งทำให้ธนาคารอื่นๆ ล้มลงตามเฟิร์ส รีพับลิค หรือไม่ ดร.พิพัฒน์ ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงปัญหานี้ยังไม่จบและอาจจะลามไปธนาคารอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นธนาคารใด โดยให้จับตาหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลงอย่างร้อนแรง
“วิกฤติครั้งนี้น่าจะลามต่อไป เพราะหากพิจารณาแต่ละแบงก์ที่ล้ม ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาหรืออาการแบบภาคธนาคารในอดีตที่ปล่อยสินเชื่อไม่ดี หรือคุณภาพสินทรัพย์ด้อยค่าลงเลย รอบนี้แต่ละธนาคารหนี้เสีย (NPL) ก็ไม่สูง ทุนก็มีเพียงพอ แต่ส่วนใหญ่เป็นวิกฤติความเชื่อมั่นมากกว่า"
"ดังนั้นก็แล้วแต่เหตุการณ์เลยว่า วันดีคืนดีใครจะชี้นิ้วล่าแม่มด ว่าธนาคารไหนมีปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม ดังนั้นควรจับตาหุ้นแต่ละธนาคารไว้ หากหุ้นตัวไหนปรับตัวลงเยอะก็มีโอกาสเข้าข่ายเหตุการณ์ครั้งนี้”
จากวิกฤติในภาคธนาคารพาณิชย์ที่กล่าวมาทั้งหมด ดร.พิพัฒน์ ประเมินว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงหนึ่งครั้ง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) และแสดงท่าทีหยุดขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนเพื่อประคองสถานการณ์ในภาคการเงิน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ หรือหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย
“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเฟดให้ความสำคัญกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2% มากกว่าปัญหาในภาคธนาคาร เพราะเฟดมองว่าปัญหาในภาคธนาคารยังอยู่ภายใต้การควบคุม แต่ถ้าวันไหนมีสัญญาณว่าวิกฤติในภาคธนาคารจะลามไปที่แบงก์ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ วันนั้นเฟดอาจต้องกลับมาทบทวนนโยบายทางการเงินอีกรอบ” ดร.พิพัฒน์ทิ้งท้าย
ข้อมูลประกอบการเขียน
1. https://www.reuters.com/business/finance/california-financial-regulator-takes-possession-first-republic-bank-2023-05-01/
2. https://www.wsj.com/articles/first-republic-bank-is-seized-sold-to-jpmorgan-in-second-largest-u-s-bank-failure-5cec723
3. https://www.reuters.com/business/finance/why-first-republic-bank-failed-what-jpmorgans-deal-means-2023-05-01/
4. https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-01/first-republic-seized-by-regulators-will-be-sold-to-jpmorgan