เปิดเบื้องหลัง SVB ล้ม! ผลสอบชี้ชัด ข้อบกพร่องบางส่วนเกิดจาก Fed เอง

เปิดเบื้องหลัง SVB ล้ม! ผลสอบชี้ชัด ข้อบกพร่องบางส่วนเกิดจาก Fed เอง

เปิดรายงานการสืบสวนการล่มสลายของ “ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” ของธนาคารกลางสหรัฐ​ ด้าน “ไมเคิล บาร์ร” รองประธานเฟด ชี้ ส่วนหนึ่งเป็นความบกพร่องในการกำกับดูแลของเฟดเอง

Key Points

  • คณะกรรมการและผู้บริหารของ SVB ไม่ได้บริหารความเสี่ยงของธนาคารอย่างเหมาะสม
  • เฟดไม่ติดตามประเด็นเรื่องความเปราะบางของ SVB อย่างใกล้ชิด
  • เฟดวางแผนสร้างกระบวนการป้องกันไม่ให้ผู้บริหารธนาคารสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง

ธนาคารกลางสหรัฐ​ (เฟด) เผยแพร่ คำวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแลธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley Bank) ก่อนการล่มสลาย และในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 โดยในรายงาน เน้นย้ำสิ่งที่ค้นพบสำคัญทั้งหมด 3 ประเด็นหลัก

 

ประเด็นแรก

ไมเคิล บาร์ร (Michael Barr) รองประธานเฟด ให้คำมั่นว่า รายงานฉบับนี้ได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟดอย่างมีเหตุผล และเสริมว่า เป็นขั้นตอนแรกในการเสริมสร้างการทำงานให้หน่วยงานกํากับดูแลของสหรัฐ โดยรายงานสรุปข้อค้นพบที่สําคัญ 4 ประการคือ

คณะกรรมการและผู้บริหารของ SVB ไม่ได้บริหารความเสี่ยงของธนาคารอย่างเหมาะสม

หัวหน้างานของเฟดไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของช่องโหว่ของ SVB อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีขนาด และความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของเฟดยังไม่เข้าใจถึงความรุนแรงที่เกิดจากความเปราะบางของ SVB (SVB’s Vulnerabilities) อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเพราะขนาด และความซับซ้อนขององค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของเฟดไม่พยายามอย่างเต็มที่ในการยืนยันให้แน่ใจว่า SVB จะสามารถแก้ไขปัญหาภายในองค์กรได้มากน้อยแค่ไหน

แนวทางของเฟดในการปรับนโยบายเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ, การลดกฎระเบียบ (Regulatory Relief) และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection Act) นําไปสู่มาตรฐานการกํากับดูแลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเพิ่มความซับซ้อนในการบริหารงาน และที่เพิ่มขึ้น และการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ไม่กระชับ

โดยบารร์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีส่วนทําให้ SVB ล่มสลาย ประกอบด้วย 

1. การใช้สื่อสังคมออนไลน์กับกลุ่มลูกค้าที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูง (Tech-savvy) และกลุ่มลูกค้ากระจุกตัว

2. ผลกระทบจากการล่มสลายของภาคธนาคารในช่วงก่อนหน้า 

3. การบริหารจัดการภายในองค์กรที่ย่ำแย่

4. ความสามารถในการชำระหนี้ของ SVB

5. ความล้มเหลวของคณะกรรมการธนาคารที่จะให้ผู้บริหารรับผิดชอบต่อความเสี่ยงของธนาคาร (Executives Accountable)

ประเด็น 2 

รายงานเน้นย้ำว่า เฟดจําเป็นต้อง “ยกเครื่อง” แนวปฏิบัติกํากับดูแล (Supervisory Practices) ผ่านการพัฒนา 3 ด้าน

ความจําเป็นในการปรับปรุงความเร็ว แรง และความคล่องตัวในการกํากับให้ตรงจุดมากขึ้น โดยก่อนหน้าการล่มสลาย SVB มีคำเตือนด้านความปลอดภัย ทั้งหมด 31 ครั้งก่อน แต่เฟดล้มเหลวในการออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา

เฟดจะให้ความสนใจกับกลุ่มธนาคารที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น หรือกลุ่มธนาคารที่มีลักษณะพิเศษ เช่น กลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว

ประการสุดท้าย เฟดวางแผนสร้างกระบวนการป้องกันไม่ให้ผู้บริหารสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง แม้อุตสาหกรรมการธนาคารจะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องติดตามความเสี่ยงของธนาคารเหล่านั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น และวิเคราะห์ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์เหล่านั้น

ประเด็นสาม

ความล้มเหลวของ SVB และการดําเนินการกํากับดูแลที่หละหลวมของเฟดมีแนวโน้มที่สร้าง “บรรทัดฐานใหม่” ในอุตสาหกรรมธนาคาร ดังนั้นเฟดจึงวางแผนที่ให้ความสำคัญทั้งหมด 3 ด้าน:

เฟดจะพิจารณาการจัดการความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อพิจารณาว่าจะต้องสร้างมาตรฐานการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบ (New Mitigation Standards) และกำหนดความคาดหวังชุดใหม่ (New Expectations) เกี่ยวกับการกำกับดูแลการและควบคุมความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร

นอกจากนี้ เฟดวางแผนตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อกําหนดด้านสภาพคล่อง (Liquidity Requirements ) ของธนาคาร และจัดการกับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเงินฝากจํานวนมากที่ไม่มีประกัน

เฟดจะทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อกําหนดด้านเงินทุน (Capital Requirements) เพื่อกําหนดการปรับปรุงที่เหมาะสมสําหรับธนาคารทุกขนาด

โดยบาร์ร ทิ้งท้ายว่า เฟดจะทบทวนแนวทางการทดสอบความสามารถในการรับมือกับวิกฤติ (Stress Testing) ของธนาคารพาณิชย์ และจะปรับปรุงการกํากับดูแลมาตรการสร้างแรงจูงใจ (Incentives) สําหรับผู้จัดการธนาคาร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์