ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์อ่อนค่า
กรุงไทย ชี้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ขณะที่แรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังช่วยหนุนให้เงินบาทแกว่งตัวเหนือโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.90-34.25บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 พ.ค.) ที่ระดับ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.90-34.25 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ขณะที่แรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังช่วยหนุนให้เงินบาทแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับแรก 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง (ส่วนหนึ่งอาจเป็นการขายทำกำไร Long THB ของผู้เล่นบางส่วน)
ส่วนในวันนี้ เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงคืนที่ผ่านมา เนื่องจากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงแรง คือ กลุ่มพลังงานและการเงิน ทำให้ภาพดังกล่าวอาจส่งผลกดดันตลาดหุ้นไทยซึ่งมีหุ้นทั้งสองกลุ่มเป็นสัดส่วนใหญ่ได้เช่นกัน โดยนักลงทุนต่างชาติอาจเลือกที่จะยังไม่รีบเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาทิ โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น(JPY) จากผู้เล่นบางส่วน หลังเงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และโฟลว์ธุรกรรมจากผู้เล่นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง ทำให้เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังพอแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้บ้าง (แนวรับถัดไป คือ 33.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ (สอดคล้องกับแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน)
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจพลิกกลับมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น หรือผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่าเฟดยังมีโอกาสอยู่บ้างในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซนแนวรับได้เช่นกัน โดยทั้งโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.16% ท่ามกลางความกังวลปัญหาสภาพคล่องของบรรดาธนาคารขนาดเล็ก-กลาง กดดันให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวลดลง (Wells Fargo -3.8%, BofA -3.0%) นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ(Debt Ceiling) ที่ยังไม่มีท่าทีว่าสภาคองเกรสจะหาทางออกร่วมได้สำเร็จ ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยปัจจัยดังกล่าว รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงแรงกว่า -5% ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลงแรงเช่นกัน (Chevron -4.3%, Exxon Mobil -4.0%)
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวลงกว่า -1.24% กดดันโดยการปรับตัวลงรุนแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -8.6%, TotalEnergies -5.1%,) หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลงกว่า -5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (BNP -2.8%, Santander -2.6%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจว่าปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารยุโรปจะคลี่คลายลงไปได้ หลังปัญหาดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น กอปรกับการปรับตัวลงแรงของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.43% ใกล้โซนแนวรับแรกแถว 3.30%-3.40% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอีกครั้ง โดยเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในโซน 3.30%-3.50% จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.8 จุด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่าเฟดอาจจะหยุดการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ หลังการขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็เริ่มเผชิญแรงกดดันจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 2,025 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำจะหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นกันในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน ซึ่งสำรวจโดย ADP ที่อาจช่วยสะท้อนว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะออกมาประมาณไหนในวันศุกร์นี้ รวมถึง รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่จะอาจยังคงชี้ว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง (ภาคการบริการ คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ2.75% หลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน ขณะเดียวกัน ภาพรวมเศรษฐกิจก็เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงและเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนเมษายน อาจชะลอลงสู่ระดับ 2.55% ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานและราคาเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและต้นทุนที่ยังสูงอยู่ ซึ่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ 1.75% ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงแต่เราคงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.00%
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดก็อาจหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อได้