มีเงินภาษีที่ต้องได้คืน แต่ลืมขอคืนเงินภาษี! ทำย้อนหลังได้ เงื่อนไขดังนี้
ยื่นภาษีเสร็จแล้ว แต่ลืมขอคืนเงินภาษี หรือ นึกได้ว่ามีลดหย่อนอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาคำนวณหักลดหย่อนภาษี สามารถยื่นเพิ่มเติมย้อนหลัง เพื่อขอเงินภาษีคืนได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ภาษีที่คนไทยมีหน้าที่ต้องเสียมีอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับประเภทรายได้ที่ได้รับ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และในกรณีที่ผู้มีรายได้ถูกหักภาษีไว้ล่วงหน้า หรือเรียกว่าการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก่อนถึงเวลายื่นภาษีเงินได้ประจำปี ผู้มีรายได้มีสิทธิ "ขอคืนเงินภาษี" ในส่วนที่จ่ายเกินไปได้ เมื่อคำนวณแล้วมีเงินภาษีจ่ายเกินไว้
ทั้งนี้ การขอคืนเงินภาษี ที่จ่ายเกินไว้นั้น สามารถยื่นเอกสารเพิ่มเติมและทำได้ทันทีตั้งแต่ยื่นภาษีประจำปี แต่หากปล่อยจนล่วงเลยไปนาน ในทางกฎหมายได้กำหนดให้สามารถขอคืนภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี หรือภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปนั่นเอง
นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเอกสาร และมีขั้นตอนการขอคืนเงินภาษีที่จ่ายเกินไว้ แตกต่างจากการขอคืนเงินภาษีทันที่ที่มีการยื่นภาษี ซึ่งสามารถปฏิบัติตามได้รายละเอียดต่อไปนี้
- หลักการขอคืนเงินภาษีย้อนหลัง
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า ตามกฎหมายได้กำหนดให้ผู้มีรายได้สามารถขอคืนเงินภาษีย้อนหลังที่จ่ายไว้เกินภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี เว้นแต่...
1.ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการ เมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
2.ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาล ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
คำร้องขอคืนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้มีสิทธิขอคืนมีภูมิลำเนา หรือ ณ สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด
ดังตัวอย่างเช่น หากผู้มีรายได้ยื่นภาษีประจำปี 2565 ภายในเดือนมีนาคม 2566 แล้ว ซึ่งจะขอคืนภาษีย้อนหลังได้สำหรับปีภาษี 2562 2563 และ 2564 เท่านั้น แต่ปีภาษี 2565 ที่ยื่นภาษีในปี 2566 ถือเป็นปีภาษีปัจจุบัน สามารถยื่นเพิ่มเติมได้เลยหากยื่นไม่ครบ
ส่วนภาษีที่จ่ายไว้เกินในช่วงปี 2562 2563 และ 2564 และเพิ่งนึกได้ว่ามีลดหย่อนอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาคำนวณหักลดหย่อนภาษี ก็สามารถยื่นเพิ่มเติมย้อนหลังได้ เพื่อขอเงินภาษีที่จ่ายไว้เกินคืน
- ขอคืนเงินภาษีย้อนหลังที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น และเอกสารที่ต้องเตรียม
การยื่นขอคืนเงินภาษีย้อนหลัง ผู้ขอคืนเงินภาษีจะต้องเดินทางไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น ไม่สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ พร้อมกับเตรียมเอกสารแสดงรายได้ เอกสารหลักฐานขอลดหย่อนภาษีไปด้วย เช่น
- เอกสารแสดงรายได้
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- เอกสารรับรองขอลดหย่อนภาษีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
หลังยื่นขอคืนเงินภาษี จะได้รับเมื่อไหร่ และช่องทางการรับเงินคืน
หลังจากที่ผู้ขอคืนเงินภาษีย้อนหลังได้ยื่นขอคืนภาษีเรียบร้อย ทางกรมสรรพากรจะคืนเงินภาษีให้ภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นแบบขอเงินคืนภาษีเพิ่มเติม และในกรณีที่กรมสรรพากรคืนภาษีล่าช้า ผู้ขอคืนภาษีมีสิทธิได้รับคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป
โดยผู้ขอคืนภาษีจะได้รับเงินคืนผ่านช่องทางดังนี้
1.คืนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก กรมสรรพากรจะทำการโอนเงินภาษีที่ได้อนุมัติคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝากธนาคารและได้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว
2.คืนเงินผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีผู้ขอคืนเงินภาษีไม่ประสงค์รับเงินภาษีคืนด้วยการโอนเงินภาษีคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์
3.รับเงินคืนภาษีเข้าบัตร e-Money หรือ e-Wallet (แอปฯเป๋าตัง ) เฉพาะธนาคารกรุงไทย
สรุป
ดังนั้น ผู้ขอคืนภาษีย้อนหลังสามารถขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี โดยต้องยื่นด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น พร้อมกับเตรียมเอกสารแสดงรายได้ และเอกสารหลักฐานขอลดหย่อนภาษีไปด้วย
จากนั้นจะได้รับเงินภาษีคืนตามช่องทางที่ผู้ขอคืนภาษีได้แจ้งกับกรมสรรพากรไว้ และหากได้รับเงินคืนล่าช้า เข้าเดือนที่ 4 เมื่อไหร่ ผู้ขอคืนภาษีมีสิทธิได้รับคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินอีกด้วย
----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting