กสิกร-ทีทีบี ชี้ ธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี ลงทุนเพิ่มรับเศรษฐกิจฟื้น

กสิกร-ทีทีบี ชี้ ธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี ลงทุนเพิ่มรับเศรษฐกิจฟื้น

ธปท.เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ภาคบริการจ่อลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 10% รองรับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้าน‘กสิกร’ชี้ความต้องการสินเชื่อผงาดกว่า10% ส่วน “ทีทีบี” เชื่อครึ่งปีหลังสินเชื่อธุรกิจโตต่อ เร่งปรับพอร์ตเน้นสร้างรีเทรนด์เพิ่ม

        ภาพเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันยังมีภาพของการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เป็น “แรงขับเคลื่อน”สำคัญ ให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้ ส่งผลให้หลายภาคธุรกิจ กลับมาเติบโตได้เกิน หรือใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว หลายธุรกิจกลับมาลงทุน ขยายธุรกิจได้มากขึ้น เพื่อรองรับ ความต้องการซื้อที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

        ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ(BSI)เฉพาะกิจ ระหว่างวันที่ 1-25 เม.ย.ปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้าน แนวโน้มการลงทุนของภาคธุรกิจในปี 2566 โดยพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 80% มีแผนลงทุนในปี 2566 แต่ส่วนใหญ่ ใช้กับการลงทุนเพื่อซ่อมแซม หรือทดแทน เครื่องจักร และลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
 

       ธุรกิจภาคที่มิใช่การผลิต ธุรกิจบริการ ส่วนใหญ่คาดว่า จะใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเที่ยว ที่กว่าครึ่งของผู้ทำสำรวจ ที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 10% โดย 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมด จะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการปรับปรุงซ่อมแซม สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

         ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ส่วนใหญ่คาดใช้เม็ดเงินใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งมีทั้งลงทุนต่อเนื่อง ในโครงการเดิม และซื้อที่ดินเตรียมรองรับอุปสงค์ในอนาคต

        ในส่วนธุรกิจภาคการผลิต ธุรกิจส่วนใหญ่ เน้นการลงทุนเพื่อซ่อมแซม หรือทดแทนเครื่องจักรเก่า และลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

        นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่มมีการลงทุน R&D เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่

          ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนในแต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกัน โดยธุรกิจผลิตเหล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น หากเทียบกับปีก่อน ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะส่วนใหญ่จะใช้เม็ดเงินใกล้เคียงกับปีก่อน

        อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมลงทุนของภาคธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่ภายใต้ “ต้นทุน” ที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน รวมถึงความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ในการเข้าถึงแหล่งทุน และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบางธุรกิจเช่นกัน

       นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมการขอสินเชื่อตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจเอสเอ็มอี มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 10% หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา หรือเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลักๆ มาจาก ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

        โดยเฉพาะ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ ภาคท่องเที่ยว เป็นภาคที่มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ลงทุนในการต่อยอดในธุรกิจมากขึ้น เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า

      เช่นเดียวกับภาคการผลิต ที่เริ่มกลับมามีความต้องการ สินเชื่อเพื่อใช้ในการซื้อเครื่องจักร และเตรียมสต็อกสินค้าเพื่อใช้ส่งออกมากขึ้น จากช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ที่ภาคการผลิตชะลอลงมาก จากผลกระทบโควิด-19 ดังนั้นปีนี้จึงเป็นจังหวะ ของการเร่งลงทุนมากขึ้น

      ส่วนภาคอสังหาฯ เติบโตดีต่อเนื่องหากเทียบกับช่วง 2ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ ยังเป็นการลงทุน ในส่วนของอสังหาฯเพื่อรองรับกลุ่มระดับกลาง และบนเท่านั้น หรือรองรับนักลงทุนจากต่างชาติ แต่ความต้องการลงทุน สำหรับวางแผนที่อยู่อาศัยระดับล่าง ปีนี้ยังเป็นปีที่ยาก เพราะคนระดับล่างยังเผชิญกับภาระหนี้สูงและต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ยังไม่มีกำลังซื้อมากนัก

       อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าจะหนุนให้สินเชื่อเอสเอ็มอีของธุรกิจ ปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 5% จากสินเชื่อคงค้างปัจจุบันที่มีกว่า 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ ระดับ 1 แสนล้านบาท

      “แม้สินเชื่อขยายตัวได้ดี แต่ก็มีตัวที่เราต้องจับตาคือ ต้นทุนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพต่างๆ รวมถึงต้นทุนดอกเบี้ย ที่อาจมีผลต่อภาคธุรกิจให้มีภาระมากขึ้นปีนี้ว่า ส่วนนี้มีผลกระทบต่อธุรกิจมากน้อยแค่ไหน แต่หากดูหนี้เสีย วันนี้ยังทรงตัวๆ แต่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่นผลของการขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลต่อภาคธุรกิจจริงๆย้อนหลัง3-6เดือนหลังขึ้นไปแล้ว ดังนั้นเราต้องติดตามดูว่าต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร”

     นายอเล็กซานเดอร์นนท์ แลงเฟลด์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า สำหรับภาคธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี และมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น เช่นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยว ภาคบริการ ธุรกิจโรงแรม สายการบิน 

       ขณะที่ ธุรกิจอื่นความต้องการสินเชื่อยังทรงๆตัว หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่า จะเห็นภาพของการกลับมาลงทุน รวมถึงการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นที่ชัดเจน ในช่วงครึ่งปีหลัง

        แต่กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของธนาคารปี2566 สำหรับภาคธุรกิจ ธนาคารเน้น การปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น และเน้นการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตธนาคารเพิ่มขึ้น เช่นการปรับพอร์ตสินเชื่อ ไปในธุรกิจที่สามารถให้ผลตอบแทน และสามารถต่อยอดในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เน้นปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อว่าระยะยาวจะทำให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารเติบโตดีขึ้น 

        โดยธุรกิจที่ยังเป็นกลุ่มที่ธนาคารโฟกัสหลักๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับเมนูเฟกตอริ่ง ปิโตเคมี โรงไฟฟ้า ที่ยังเป็นพอร์ตที่เติบโตได้ต่อเนื่อง 

       “ตอนนี้กลยุทธ์ของธนาคาร คือกลับมาดูในอิสดัสตรีที่สร้างรีเทรนด์ที่ดีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพพอร์ตของเราข้างในดีขึ้น ไม่ใช่ประโคมปล่อยสินเชื่อ เพื่อเอายอดอย่างเดียว แต่เราจะมาดูว่า สินเชื่อที่ปล่อยแล้ว สร้างรีเทรนด์ให้เราเพิ่มขึ้น มีกลุ่มไหน และทำอย่างไรได้บ้าง เช่น เราอาจไม่ได้มองสินเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงว่า กลุ่มนี้สามารถต่อยอดในการสร้างรายได้ ในด้านเทรดไฟแนนซ์ ธุรกรรมการชำระเงิน ธุรกรรมที่เกี่ยวกับ FX มากขึ้น เราดูทั้งอีโคซิสเต็ม ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเพื่อให้เซอร์วิสลูกค้าเราดีขึ้นด้วย ท้ายที่สุดผลตอบแทนเราก็จะดีขึ้นต่อเนื่อง”