‘จีน’ กระหน่ำโรดโชว์ต่างชาติ ดูดเงิน FDI หลังพบเงินจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ
“รัฐบาลกลางปักกิ่ง” สั่งท้องถิ่น โรดโชว์ ต่างประเทศ หวังดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หลังพบเงินจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ แม้บรรดานักธุรกิจเห็นพ้อง ความน่าสนใจตลาดจีนลดฮวบ เหตุนโยบายเปลี่ยนบ่อย - การปราบปรามบริษัทต่างชาติ
Key Points
- “รัฐบาลกลางปักกิ่ง” สั่งท้องถิ่น โรดโชว์ ต่างประเทศ
- FDI จีนลดฮวบ หลังรัฐบาลกลางปราบปรามบริษัทต่างชาติ
- บรรดาซีอีโอเห็นพ้องไม่สนใจลงทุนในจีน เพราะนโยบายไม่นิ่ง - ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (12 พ.ค. 66) ว่าการกำหนดนโยบายต่างๆ แบบ “คาดเดาไม่ได้” ของจีน กำลังขัดขวางเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งทางการก็ไม่มี “ศาสตร์และศิลป์” ในการดึงดูดฟันด์โฟลว์ดังกล่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานในท้องถิ่นอยู่ในช่วงยกสายหาผู้ประกอบการต่างชาติ และอยู่ในขั้นพยายามนำโรดโชว์ไปต่างประเทศ เนื่องจากต้องการกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนที่ร่อยหรอจากการใช้จ่ายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับฐานลงอย่างร้อนแรง โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลกลางที่ต้องการส่งเสริมการลงทุน ตามแนวคิดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขนานนามว่า “ปีแห่งการลงทุนในประเทศจีน”
โดยความพยายามดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนอย่างอบอุ่นจากบรรดานักลงทุนและนักธุรกิจนอกประเทศจีน แต่ในขณะที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ รวมทั้งข้อตกลงบางส่วนก็ได้ประกาศต่อสาธารณะแล้ว ทว่าแต่นักลงทุนศักยภาพสูงจำนวนมากยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งนโยบายจากรัฐบาลกลางที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ประกอบกับ กระแส “ความกระหายในการลงทุน” ในจีน ยิ่งอ่อนแอลงไปอีกจากการปราบปรามบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติที่นักลงทุนทั่วโลก และบริษัทข้ามชาติใช้เพื่อหาข้อมูล และทำความเข้าใจภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในจีน โดยแคมเปญดังกล่าวมีขึ้นหลังการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างฉับพลันในอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่ เทคโนโลยี ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากตลาดการเงินประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญ
จีนพยายามปรับเปลี่ยนท่าที
โดยทางการจีนต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนครั้งใหม่ และครั้งใหญ่ หลังจากฟันด์โฟลว์จำนวนมากไหลออกนอกประเทศ
โนอาห์ เฟรเซอร์ (Noah Fraser) กรรมการผู้จัดการสภาธุรกิจจีนของแคนาดา กล่าว “แน่นอนว่ามีแรงกดดันอย่างมากต่อท้องถิ่น และจังหวัดต่างๆ ให้ดึงดูดการลงทุน และเรามองว่านี่เป็นความขัดแย้งเชิงนโยบายที่ชัดเจนมาก เพราะนโยบายระดับชาติจากรัฐบาลกลางสวนทางกับความต้องการดังกล่าว” พร้อมกล่าวเสริมว่า “สมาคมของเราได้ข่าวเรื่องการลงทุนใหม่ๆ น้อยลง คิดว่าน่าจะเป็นเพราะความเชื่อมั่นของพวกเขาลดต่ำลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
หากอ้างอิงตาม รายงานของรัฐบาลท้องถิ่น และสื่อของรัฐในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มณฑล และเมืองต่างๆ หลายสิบแห่งในจีนส่งผู้แทนไปจัดโรดโชว์ด้านการลงทุนในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี รวมถึงชาติต่างๆ ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเมืองเซี่ยงไฮ้เพียงแห่งเดียววางแผนไปโรดโชว์เพื่อดึงดูดธุรกิจ ในต่างประเทศอย่างน้อย 100 ครั้งในปีนี้ ขณะที่มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างน้อย 2 ล้านล้านหยวน (2.88 แสนล้านดอลลาร์) ในอีก 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวในมาเก๊า ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก โดยไม่ประสงค์ออกนามว่า บรรดาเจ้าของกิจการไม่มั่นใจที่เพิ่มการลงทุนในจีน เนื่องจากความกังวลจำนวนหนึ่ง เช่น การปราบปรามกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติอย่างที่กล่าวไป
โดยแหล่งข่าวผู้บริหารท่านดังกล่าวเพิ่งจะได้พบปะกับเจ้าหน้าที่จากมณฑลจี๋หลิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อหาคู่ค้าสำหรับการขายโสม และเขากวาง รวมถึงเจ้าหน้าที่จากมณฑลเจียงซูที่ส่งเสริมการส่งออกปูขน และแม้จะมีการพูดคุยในรายละเอียดการทำธุรกิจ ทว่าคู่ค้าเหล่านั้นยังไม่มีแผนที่จะเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคตอันใกล้
จากข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนลดลง เนื่องจากกำไรของบริษัทย่อตัว ประกอบกับเศรษฐกิจประสบปัญหาเนื่องจากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ท่ามกลางความสนใจในหุ้นจีนของนักลงทุนทั่วโลกที่ลดต่ำลง ซึ่งดัชนีเอ็มเอสซีไอ ไชน่า (MSCI China) ปรับฐานลดมาประมาณ 50% จากจุดสูงสุดปี 2564 รวมทั้งการถือครองพันธบัตรของจีนในต่างประเทศก็ลดลงเป็นเวลา 12 เดือนจากทั้งหมด 13 เดือนจนถึงเดือนก.พ. ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองโปลิตบูโร (Politburo) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ เรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ และการฟื้นตัวที่ยากลำบาก
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นของจีนเผชิญกับภาระที่ค่อนข้างยาก โดยค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2.6% ในปีที่แล้ว โดยส่วนมากเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การลดภาษี และโครงการอื่นๆ ในขณะที่รายได้กลับลดลง 11% เนื่องจากยอดขายที่ดินตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้นทุนหนี้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ท้องถิ่นเพิ่มการกู้ยืมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้จ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเติมเต็มช่องว่างด้านงบประมาณ ขณะที่ดอกเบี้ยจากพันธบัตรที่มีมูลค่ารวม 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ก็เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ความตึงเครียดกับกลุ่มประเทศทางตะวันตกที่เพิ่มขึ้น ก็เข้าไปเพิ่มความท้าทายให้จีนเช่นเดียวกัน โดยบริษัทส่วนใหญ่ของสหรัฐ ที่ลงทุนในจีนอยู่แล้ว ระบุในทำนองเดียวกันว่า “จีนไม่ได้มีความสำคัญสูงสุด 3 อันดับแรกอีกต่อไป ขณะที่รัฐบาลสหรัฐก็กำลังหาทางจำกัดกระแสการลงทุนบางส่วนที่เข้าไปลงทุนในจีนด้วย”
แหล่งข่าววงในของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า คณะผู้แทนจากหัวเมืองต่างๆ ของจีนเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ทุกสัปดาห์ในปีนี้ ด้านผู้ประกอบการชาวตะวันตกในฮ่องกง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในจีนเริ่มโทรศัพท์หาบริษัทต่างชาติ โดยข้ามการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ เพื่อขอการลงทุนโดยตรง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่แหล่งข่าวท่านดังกล่าว มองว่า หายากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกอบการคนดังกล่าว ระบุว่า ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ในมณฑลซานตงชักชวนให้ลงทุน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า แม้ว่าทางการจะพยายามทุกวิถีทางในการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีเมืองชิงเตา ซึ่งเป็นเมืองท่าในมณฑลซานตง จัดงานเชิงธุรกิจในกรุงโตเกียว โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน และธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นหลายแห่งลงนามในบันทึกความเข้าใจในช่วงท้ายของงาน ทว่าไม่มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงหรือการลงทุนทางการเงินใดๆ โดยผู้เข้าร่วมคนหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “ความไม่เต็มใจที่จะลงทุนในจีนมีมากขึ้น เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์”
ด้านแหล่งข่าววงในซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมระหว่างจีนกับไต้หวัน ระบุว่า ขณะที่สมาคมธุรกิจไต้หวันเกือบทุกแห่งใน ซึ่งตั้งอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้รับการร้องขอให้เพิ่มการลงทุนขึ้น ทว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ การลงทุนใหม่จากบริษัทของไต้หวันกลับลดลง 10% และการทำงานร่วมกันระหว่างธนาคารในจีน และไต้หวันก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
ด้าน แหล่งข่าวผู้บริหารจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในฮ่องกง กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากไม่ต้องการซื้อสินทรัพย์ในจีนเนื่องจากความยากลำบากในขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ การประเมินทรัพย์สิน (Due Diligence) โดยความกังวลดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงมากจากท่าทีปัจจุบันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping)
ส่วน แกรี แลม (Gary Lam) ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Asia CEO Community กล่าวว่า แม้แต่ธุรกิจที่ตอนนี้ยังเข้าไปลงทุนในจีน ก็ใช้แนวทางการลงทุนที่ระมัดระวัง โดยเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่การดําเนินงานธุรกิจของตัวเองในประเทศจีน แทนที่จะเป็นการลงทุนโดยตรงด้วยเงินโดยตรง
"พวกเขาต้องการควบคุมบริษัทของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะความไว้วางใจต่อรัฐบาลจีนที่น้อยลง ท่ามกลางการปราบปรามจากรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างต่อเนื่อง" แลม กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์