'กองทุน' รอช้อนซื้อ1,530จุด เชื่อ ‘หุ้นไทย’พื้นฐานแกร่ง
"กองทุน“ ชี้ ระยะสั้นดัชนีผันผวน รอความชัดเจนจัดตั้งรัฐบาล -โหวตนายก ”บลจ.อีสท์สปริง" ลั่นหากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว ดันตลาดหุ้นไทย บลจ. ชี้ พื้นฐานแกร่ง - ราคาหุ้นไม่แพง ดาวไซด์จำกัด มอง 1,520-1530 จุด เป็นจังหวะเข้าซื้อ บล.กสิกรไทย มอง 3 สูตรตั้งรัฐบาล ดันหุ้นขึ้น
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง(ประเทศไทย) กล่าวว่า ระยะสั้นภายในเดือนพ.ค.นี้ โอกาสดัชนีหุ้นไทยจะไปแตะระดับ 1,600 จุด อาจไม่ได้เห็นเร็ว เพราะปัจจัยการเมืองหลังเลือกตั้งยังรอความชัดเจนโหวตเลือกนายก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังมีประเด็นเจรจาเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐกดดันอยู่ด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการเลือกตั้ง คาดว่า กรณี ก้าวไกล กับ เพื่อไทย ไม่รวมภูมิใจไทย มีโอกาสจับมือจัดตั้งรัฐบาลได้และสว.โหวตตามเสียงประชาชน และด้วยนโยบายหาเสียงของเพื่อไทย กรณีปรับขึ้นค่าแรง กดดันต้นทุนการผลิตภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และนโยบาย 100 วันของก้าวไกล กรณีมีความพยายามปฏิรูปกลุ่มทุน
ในประเด็นนี้ที่กล่าวมานี้ มองว่า มีโอกาสกระทบเชิงเซ็นทริเม้นต์การลงทุนระยะสั้น เพราะกดดันกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ระยะข้างหน้าอาจปรับลดลง หากเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวในระยะยาวได้ตามคาด ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องในแง่ของโมเมนตัมการลงทุนต่างชาตได้เช่นกัน ต้องรอจับตาว่าต่างชาติมองอย่างไร
ทั้งนี้เรายังมองหุ้นไทยมีอนาคต ไม่ว่าพรรคใดมาเป็นรัฐบาลหากขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจได้เร็ว คาดไม่ส่งผลต่อหุ้นไทยนัก ขอเพียงแค่ไม่เกิดประเด็นนอกสภา เพราะนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ชอบความชัดเจน ฟันด์โฟลว์ต่างชาติน่าจะเริ่มกลับเข้ามาได้ มีลุ้นดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นใกล้ระดับ 1,700 จุด จากมองดัชนีสิ้นปีนี้ไว้ที่กรอบ 1,570- 1,630 จุด ยังมีปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศกดดัน
นายวิโรฤทธิ์ จีระชน Executive Director กลุ่มวิเคราะห์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างรอความชัดเจนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ ช่วงระยะสั้น 3 เดือนหลังเลือกตั้ง ตลาดหุ้นอาจผันผวนได้ และยกเว้นหลังมีสถานการณ์ใหม่เชิงลบต้องทบทวนมุมมองใหม่ แต่หากพิจารณาการลงทุนตลาดหุ้นไทยระยะ 6 เดือน - 12 เดือนข้างหน้า เรามองว่า ยังมีอนาคต ด้วยปัจจัยพื้นฐานหุ้นไทยที่แข็งแกร่ง จากเศรษฐกิจโทยโดยเฉพาะท่องเที่ยวยังฟื้นตัวดี จีดีพีปีนี้โตใกล้ 4%% และราคาหุ้นไทยไม่แพง เป็นระดับที่น่าเข้าลงทุน และดาวน์ไซด์ไม่มากแล้ว ยังคงเป้าหมายดัชนี้สิ้นปีนี้แตะ 1,700 จุดได้
สำหรับบลจ.ไทยพาณิชย์ มีกลยุทธ์การลงทุนหุ้นไทย หากหลังจากนี้ดัชนีฯ ปรับตัวลงแตะระดับ 1,520-1530 จุด มองเป็นโอกาสเข้าลงทุนรับผลตอบแทนที่ดีในระยะกลางถึงยาว เลือกหุ้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหุ้นเติบโตดีเป็นหลัก เลือกกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์การบริโภคในประเทศ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก การแพทย์
นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงวานนี้ (15 พ.ค.) จากตลาดกังวล 2ประเด็น ประเด็นแรกคือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน (BGRIM GULF INTUCH TRUE GPSC THCOM ADVANC) ปรับตัวลงจากนโยบายของพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะออกนโยบายจำกัดการผูกขาด
นอกจากนี้ ประเด็นถัดมา คือ ตลาดยังกังวลกับความเสี่ยงที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จเพราะ สว.ไม่โหวตให้ทำให้ได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง ทำให้เสี่ยงที่ฝ่ายที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอาจลงถนนจนกระทบกับภาคการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวดี
อย่างไรก็ตามเรามองว่า การจัดตั้งรัฐบาลมีโอกาสเกิดได้ 3 แนวทาง คือ 1. พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล โดยมี สว. บางส่วนโหวตให้ เพราะไม่ต้องการโหวตสวนเสียงของประชาชน
2.พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล โดยสามารถดึงพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปิดสวิสต์ สว. 3. การผสมข้ามขั้วโดยพรรคอันดับสองคือเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นการดึงพรรคในฝั่งรัฐบาลเข้าร่วม นอกเหนือจากภูมิใจไทยเพื่อให้ได้เสียง 250 เสียงขึ้นไป
โดยประเมินว่าทั้งสามแนวทางจะหนุนดัชนีปรับตัวขึ้น แต่กรณีที่ 3 จะขึ้นช้า เพราะต้องรอให้ผ่านกรณี 1 และ 2 ก่อน โดยประเมินเป้าดัชนีหุ้นไทยกรณี 1 กับ 2 ดีสุด และกรณี 3 รองลงมา
เนื่องจากสองแบบแรกพรรคฝ่ายค้านจะะจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งด้วยจำนวน ส.ส. รวมกันมากกว่า 300 จาก 500 ที่นั่ง คาดจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเนื่องจากคาดรัฐบาลเข้มแข็งจะมีอำนาจในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฏิรูปโครงสร้างเพื่อสนับสนุนสภาวะเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเปลี่ยนขั้วรัฐบาลไปเป็นรัฐบาลแบบประชาธิปไตยคาดจะกระตุ้นกระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศด้วย ส่วนกรณีที่สามมองบวกเช่นกัน แต่อาจใช้เวลานานขึ้น และมีผลต่อการผ่านร่างงบประมาณ
บล.กสิกรไทย มองว่าหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบ 1,520-1.585 จุดไปจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเนืองจากตอนนี้พรรคก้าวไกลยังไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่า 376 เสียงเพื่อปิดสวิสต์ ส.ว. โดยเบื้องต้นอาจกินเวลาไปถึงเดือน ก.ค.-ส.ค. เพราะต้องรอดูว่าฝั่ง ส.ว. จะโหวตให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเพียงพอ
โดยเงื่อนไขที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ดีมี 3 ข้อคือ 1.ผลการเลือกตั้ง และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไม่มีการประท้วงลงถนนจนกระทบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพหลังการเลือกตั้ง กล่าวคือ พรรคร่วมรัฐบาลได้ สส. รวมกันมากกว่า 250 ที่นั่ง (กึ่งนึง) และ 3.รัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากนโยบายที่จะหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว
คาดผู้เล่นในประเทศทำผลงานได้ดีกว่า ขณะที่เฝ้าระวังกลุ่มปตท. สาธารณูปโภค ICT และ BTS จากการปฎิรูปนโยบาย/แก้กฎหมาย ผู้เล่นกลุ่มการบริโภคในประเทศ (การเงิน อสังหาฯ ธนาคาร พาณิชย์ สื่อและ F&B) คาดจะเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ (เช่น ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มูลค่ารวม 5.6 แสนล้านบาท ของพรรคภูมิใจไทย และแพ็กเกจสวัสดิการ มูลค่ารวม 7.53 แสนล้านบาท ของพรรคก้าวไกล) สำหรับนโยบายระยะยาว FDI และโครงการจากภาครัฐที่มากขึ้นคาดจะส่งผลบวกต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและผู้รับเหมา
แต่นักลงทุนควรเฝ้าระวังกลุ่ม ปตท. สาธารณูปโภค และ BTS เนื่องจากพรรคใหญ่ส่วนใหญ่ต่างให้สัญญาที่จะลดราคาน้ำมันและก๊าซและไฟฟ้าลง เราคาดว่ากลุ่ม ICT จะถูกจับตามองจากกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และ BTS กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงเรื่องการเรียกเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้นและภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในช่วงหาเสียงด้วย