AMC แข่งเดือด ยอดเปิดบริษัทใหม่พุ่ง รุมชิงเค้ก ‘ธุรกิจบริหารหนี้เสีย’
AMC เปิดใหม่พุ่ง ไตรมาสแรก เพิ่ม13 บริษัท "ชโย กรุ๊ป " ชี้ มองเห็นโอกาสในธุรกิจเอเอ็มซีโตเด่น หลัง "แบงก์-นอนแบงก์" แห่นำออมาประมูลคึกคักไตรมาส 2 ที่ 1.5-1.6 แสนล้าน “เจเอ็มที” เผย เชื่อทั้งปีทะลุ 4 แสนล้าน “บสส” ระบุ ไตรมาส2 ยอดขายหนี้ทอดตลาดพุ่ง 8 หมื่นล้าน
ในช่วงที่ “หนี้เสีย” หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในระบบอยู่ในระดับสูงนั้น ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ถือเป็นธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด จากโอกาสในการเข้าไปรับซื้อหนี้เสียมาบริหารมากขึ้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ระยะหลังๆ เห็นจำนวนบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพิ่มขึ้นเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการเปิดเผย จำนวน บริษัท AMC ประจำไตรมาส พบว่า ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2566 ยอดการจัดตั้งบริษัท AMC เพิ่มขึ้น 13 บริษัท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมเป็น 75 บริษัท จากสิ้นปี2565 ที่มีจำนวน AMC เพียง 62 บริษัท และหากเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีจำนวนAMC ในระบบเพียง 59 บริษัทเท่านั้น
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นธุรกิจ AMC ที่เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ในการเข้ามาแข่งขันซื้อหนี้ในระบบ ซึ่งเป็นทั้งบริษัทในไทย และบริษัทต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจ AMC ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่มีหนี้เสียอยู่ในระบบค่อนข้างมาก
ทั้งนี้หากดูสถานการณ์หนี้เสียในระบบ ปัจจุบันมีแบงก์ และนอนแบงก์ นำหนี้เสียออกมาขายทอดตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะไตรมาส 2ปีนี้ ที่มีแบงก์ และนอนแบงก์ นำหนี้เสียออกมาขายทอดตลาดแล้วถึง 1.5-1.6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นหนี้ใหม่ที่เข้ามาในช่วงไตรมาส2 ที่ 1 แสนล้านบาท และอีก 5-6 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสียที่คงค้างมาจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา
โดยบริษัทตั้งเป้าในการเข้าไปรับซื้อหนี้เสียปีนี้ ที่ราว 1-1.4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งงบลงทุนไว้ที่ 2 พันล้านบาท แต่หากหนี้ที่ขายทอดตลาดจำนวนมาก ก็อาจพิจารณาเพิ่มงบลงทุนเพิ่มเติม จากการออกหุ้นกู้บางส่วนในสิ้นปีนี้
“บริษัทชนะประมูลหนี้เสียมาแล้ว 2.7 พันล้านบาท เรายื่นประมูลหนี้ไปแล้วราว 6 หมื่นล้านบาท จากหนี้ที่เข้ามาประมูลในตลาดที่ 1 แสนล้านบาท ปกติจะได้ราว 2-3 พันล้านบาท จากทั้งหมดที่เข้าประมูล ซึ่งเชื่อว่าหนี้ที่แบงก์ และนอนแบงก์ นำออกมาขายทอดตลาดปีนี้จะสูงเกิน 2 แสนล้านบาท เพราะแบงก์เร่งเคลียร์หนี้ออกมา จากมาตรการช่วยเหลือที่ทยอยหมดตั้งแต่ปีนี้”
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ทิศทางการเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเอเอ็มซี แม้จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น จากผู้ที่มองเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกราย จะอยู่รอด เนื่องจากการบริหารหนี้เสียต้องอาศัยความเชี่ยวชาญค่อนข้างมาก ทั้งการติดตามหนี้ และการบริหารหนี้เสีย
ส่วนทิศทางหนี้เสียที่แบงก์ และ นอนแบงก์ นำมาขายทอดตลาดมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมากกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยคาดปีนี้จะมีหนี้เสียที่ถูกขายทอดกว่า 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นจะเป็นโอกาสของบริษัทได้หนี้เสียมาบริหารมากขึ้น ล่าสุดบริษัทมีการยื่นประมูลซื้อหนี้เสียมาได้แล้วราว 1.3 หมื่นล้านบาท และตั้งงบลงทุนเพื่อเข้าไปซื้อหนี้เสียปีนี้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากดูพอร์ตภายใต้บริหารของบริษัท พบว่าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับสิ้นปี2565 ที่พอร์ตภายใต้บริหารอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นคาดว่า หนี้เสียภายใต้บริหารของบริษัทปีนี้ น่าจะเพิ่มกว่า 4 แสนล้านบาท
ส่วนจะเกิน 5 แสนล้านบาทหรือไม่ ต้องดูทิศทางตลาดให้ชัดเจนอีกครั้งว่า หนี้ที่ถูกนำมาขายตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นปีหรือไม่
โดยยอดหนี้เสียภายใต้บริหารที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากหนี้เสียในพอร์ตภายใต้บริษัทร่วมทุน JK AMC หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค ที่บริษัทร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้บริหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็น 1 แสนล้านบาทแล้วในปัจจุบัน และเชื่อว่าทิศทางน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้าหน้า
“ปัจจุบันพอร์ตทั้งภายใต้บริหาร JMT และภายใต้บริษัทร่วมทุน JK เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะ JK ที่ธุรกิจเติบโตและสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสที่ก่อตั้งบริษัทมา และคาดว่าหลังจากนี้ธุรกิจจะดีต่อเนื่อง ส่วนการจับมือกับรายอื่นๆ วันนี้ยังไม่คิด เพราะ การบริหารสินทรัพย์ภายใต้ JK ก็ดีอยู่แล้ว ซึ่งหนี้เสียวันนี้หนี้ถูกนำมาขายทอดในตลาดคึกคักมากขึ้น คนไม่เคยขายก็มีนำหนี้ออกมาขาย คนที่ขายอยู่แล้ว ก็ขายหนี้เสียถี่ขึ้น”
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นซัพพลาย หรือหนี้เสียที่ถูกนำมาขายตลอดมากขึ้น รวมถึงAMCหน้าใหม่ที่เข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น เพราะมองว่ามีโอกาส และเป็นธุรกิจที่ได้เปรียบหากเทียบกับหลายธุรกิจ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหนี้เสียที่ส่งมาให้บริษัทยื่นประมูลแล้วราว 7-8 หมื่นล้านบาท และคาดทั้งปีจะมีหนี้เสียที่แบงก์ยื่นให้บริษัทเข้าประมูลกว่า 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน บริษัทประมูลหนี้ได้แล้วที่ 1.3 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าทั้งปีในการซื้อหนี้เสียมาบริหารคิดเป็นมูลหนี้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีหนี้เสียภายใต้บริหารที่ราว 3.5แสนล้านบาท