‘จีน’ ย้อน ‘สหรัฐ’ ถ้าอยากฟื้นสัมพันธ์การทูต ควรยกเลิก ‘คว่ำบาตร’ เดี๋ยวนี้
“ทางการจีน” ตั้งคำถามกับความจริงใจทางการทูตจากสหรัฐ เหตุยังคงนโยบายการ “คว่ำบาตร” หลายภาคส่วน โดยเฉพาะเทคโนโลยี แต่หน้าฉาก โว ต้องการสร้างบทสนทนาอย่างสันติ
Key Points
- โจ ไบเดน ชี้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ จะดีขึ้นในไม่ช้า
- รัฐบาลกลางปักกิ่งตั้งคำถามกับ “ความจริงใจ” ของสหรัฐ
- สหรัฐต้องการสร้างบทสนทนากับจีนอย่างสันติ
- จีนชี้สหรัฐยังคงนโยบายคว่ำบาตรอื้อ
หากย้อนกลับไปในงานประชุมสุดยอดผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกแถลงการณ์ถึงประเทศจีนว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาอำนาจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในอีกไม่ช้า หลังจากเผชิญความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้ามาอย่างยาวนาน
ทว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า รัฐบาลกลางปักกิ่ง ซึ่งนำโดย สี จิ้นผิง (Xi Jingping) ยังคงตั้งคำถามกับ “ความจริงใจ” จากฝ่ายบริหารของไบเดน เนื่องจากช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไบเดนพยายามผลักดันการเจรจาทางการทูตระดับสูงกับจีน ทว่ายังคงนโยบายคว่ำบาตรด้านเทคโนโลยี ในฐานะคู่แข่งหลักในเวทีการค้าโลก
ด้าน เหมา หนิง (Mao Ning) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในช่วงการพบปะสื่อมวลชนช่วงเช้าเมื่อวานนี้ว่า
“ตอนนี้เหมือน ด้านหนึ่งสหรัฐก็ประกาศว่าต้องการสื่อสารอย่างสันติกับจีน ขณะเดียวกันก็ทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อกดทับเรา”
“ตอนนี้สหรัฐคว่ำบาตรข้าราชการ หน่วยงานต่างๆ และบริษัทของจีนจำนวนหนึ่ง เราก็อยากจะถามกลับไปว่า ความจริงใจอยู่ที่ไหน และการสื่อสารที่สหรัฐว่ามันคืออะไรกันแน่” พร้อมเสริมว่า “สหรัฐควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเดี๋ยวนี้ รวมทั้งขจัดข้อจำกัดต่างๆ และสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดบทสนทนา”
ด้าน ไบเดน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า เขาหวังสานสัมพันธ์กับจีน “อย่างเร็วที่สุด” พร้อมปัดตกข้อกล่าวหา เรื่องบอลลูนสอดแนวในจีนว่าเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” ทั้งยังกล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะยกเลิกการคว่ำบาตร หลี่ ซางฟู่ (Li Shangfu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกลาโหมจีน เพราะถือเป็นการเอื้อให้
ซางฟู่ พบปะกับ ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในโอกาสเยือนประเทศสิงคโปร์เดือนหน้า
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนพยายาม “ซ่อมแซม” ความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนด้วยการ “ถล่มปักกิ่งด้วยคําร้องขอประชุม” ขณะเดียวกันก็กําหนดมาตรการควบคุม และขัดขวางจีนไม่ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัย โดยอ้างถึง “ความมั่นคงแห่งชาติ”
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แม้ถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจะออกมาในลักษณะเสียดสีทว่าก็กลยุทธ์ของสหรัฐก็ใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง โดยในสัปดาห์นี้ หวัง เหวินเตา (Wang Wentao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน จะเข้าหารือกับ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐร่วมกับ แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐ
อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า นโยบายที่แบ่งออกเป็นสองขั้วของสหรัฐ คือ ด้านหนึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างบทสนทนากับทางการจีน แต่ก็ยังคงคว่ำบาตรบางภาคส่วนอยู่ ส่งผลกระทบให้ขาดการเชื่อมโยงระหว่างความปรารถนาของสหรัฐในการ “สร้างความสัมพันธ์” กับจีน และการกดให้จีนยังคงเป็นเพียงมหาอำนาจอันดับสองทางเศรษฐกิจอยู่
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ไบเดนพยายามสร้างความสัมพันธ์กับหลายชาติเพื่อขอให้ปฏิบัติตามกลยุทธ์ของสหรัฐ โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ บรรดาผู้นำในจีน ออกแถลงการณ์ต่อต้าน “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” ของจีนขณะเดียวกันก็มุ่ง “ลดความเสี่ยง” จากการพึ่งพิงจีน พร้อมให้คํามั่นว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ “สร้างสรรค์และมั่นคง” กับปักกิ่งแทน
หลังจากแถลงการณ์ของกลุ่มจี 7 เผยแพร่ออกมาไม่นาน ทางการจีนประกาศทันทีว่า ผลิตภัณฑ์จาก ไมครอนเทคโนโลยี (Micron Technology) บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ จากสหรัฐ ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า นับเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐขึ้นบัญชีดําบริษัท เทคโนโลยีของจีน พร้อมกับห้ามพลเมืองชาวอเมริกันให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมชิปของจีนเพราะกลัวว่าองค์ความรู้ระดับสูงจะตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีน
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานถ้อยแถลงของบริษัท ไมครอน เทคโนโลยี ว่า หากอ้างอิงตามปีงบประมาณก่อนหน้า ยอดขายกว่า 11% ของบริษัท มาจากประเทศจีน รวมทั้งยังตั้งใจว่าจะเข้าหารือกับรัฐบาลจีนเพื่อผสานความร่วมมือต่อไป
ทั้งนี้ ไม่กี่วันก่อนการคว่ำบาตรจากจีน ไมครอนประกาศแผนการลงทุนในญี่ปุ่นสูงถึง 500 พันล้านเยน หรือประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.221 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตชิปรายแรกที่นำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาสู่ญี่ปุ่นโดยรัฐบาลโตเกียวอยู่ในขั้น พยายามเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคส่วนชิป ส่วนสหรัฐเรียกร้องให้พันธมิตรทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านการผลิตชิปจากจีน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์