5 ปัจจัยชวนคิดก่อน’ย้ายเงินลงทุน’ ตามผู้จัดการกองทุน

5 ปัจจัยชวนคิดก่อน’ย้ายเงินลงทุน’ ตามผู้จัดการกองทุน

ในช่วงภาวะตลาดผันผวนเช่นนี้ หากนักลงทุนที่ไม่มีการกระจายการลงทุนมากเพียงพอที่จะรับมือ อาจจะเห็น”พอร์ตลงทุน”แล้วรู้สึก อึดอัดใจ อยากโยกย้าย สับเปลี่ยน ตาม “ผู้จัดการกองทุน” ที่สร้างผลงานที่ดีในที่ทำงานใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง จะทำได้หรือไม่นั้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า "ผู้จัดการกองทุน" หลายคนที่ย้ายงานไปอยู่กับบริษัทคู่แข่งบ้างหรือก็ไปเปิดบริษัทเองบ้าง ยังสามารถสร้างผลงานในที่ทำงานใหม่ได้อย่างดี 

แต่เดี๋ยวก่อน จริงๆแล้ว เราควรย้ายเงินลงทุนตจัดการกองทุนได้หรือไม่นั้น  ทางบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ(ประเทศไทย )  ให้คำแนะนำหากคิดจะย้ายเงินลงทุนตามผู้จัดการกองทุน “มีปัจจัยอะไรที่ควรคำนึงถึงบ้าง”  

กองทุน

5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของผู้จัดการกองทุน

 1. หลักการในการลงทุนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน : การทำงานในอดีตและแนวทางการลงทุนจากที่ทำงานเดิม ไม่อาจนำมาใช้ในที่ทำงานใหม่ได้ทั้งหมด

ซึ่งอาจเป็นเพราะขั้นตอนการทำงานที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้ไม่สามารถดึงทักษะมาใช้ได้ทั้งหมด ดังนั้นหากมีแนวทางการลงทุนที่คล้ายกัน โอกาสความสำเร็จก็มากขึ้น

2.การให้ความสนับสนุนและทรัพยากร : เช่นบทวิเคราะห์และเครื่องมือต่างๆในการช่วยวิเคราะห์การลงทุน สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการสร้างผลงานและผลตอบแทน หากบริษัทใหม่ไม่สามารถให้ได้ ผู้จัดการนั้นคงไม่สามารถสร้างกลยุทธ์การลงทุนที่ดีได้

3.วัฒนธรรมองค์กร : องค์กรที่ดูแลพนักงานดีย่อมส่งผลให้การทำงานมีความสำเร็จ โดยใช้พนักงานให้ตรงกับความสามารถที่เขาทำได้ดีมักจะเป็นสิ่งที่ดีในการชี้วัดบริษัทนั้นๆ

4.การทำงานเป็นทีม : ผู้จัดการกองทุนย่อมต้องปรับตัวเข้ากับทีมงานเดิมในที่ใหม่ ซึ่งหากผู้จัดการนั้นคุ้นชินกับการทำงานแบบไม่มี Teamwork ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะต้องปรับตัว อย่างไรก็ดี การทำงานเป็นทีมย่อมช่วยให้ผู้จัดการนั้นประยุกต์ใช้ทักษะการทำงานที่มีได้ดีกว่า

5.ค่าธรรมเนียม : เรื่องนี้เป็นส่วนที่สำคัญหากกองทุนที่ใหม่คิดค่าธรรมเนียมที่แพงกว่าที่เดิม เพราะไม่ว่าผู้จัดการนั้นจะมีความสามารถสูงขนาดไหนก็ตาม หากค่าธรรมเนียมนั้นสูงเกินไปในที่ใหม่ นักลงทุนก็อาจจะขาดทุนในระยะยาว

ดังนั้น เราควรรอดูไปซักพักก่อนที่จะคิดย้ายเงินลงทุนไปตามผู้จัดการกองทุนคนเดิมที่ย้ายที่ทำงานไปที่ใหม่ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ในอนาคตนั้นไม่อาจคาดการณ์ได้

ตัวอย่างในสหรัฐและยุโรป 

ทาง มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) ได้ยกตัวอย่างในสหรัฐและยุโรป หากย้อนไปดูข้อมูลในอดีตของสหรัฐตั้งแต่ปี 1990 และของยุโรปตั้งแต่ปี 2000 เพื่อวัดผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนสร้างได้หรือ Alpha จะพบว่า ผู้จัดการที่ย้ายงานมาใหม่นั้นมักมีประวัติผลงานเก่าที่ดีโดยสามารถมี Alpha ได้เฉลี่ยต่อปี 1.53% และประมาณ 68% ของจำนวนผู้จัดการที่ย้ายงานมักให้ค่า Alpha ที่เป็นบวก และหากเทียบในช่วงสั้นๆอย่าง 3 และ 5 ปี ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีหรือมี Alpha เฉลี่ย 0.67% และ 1.3% ตามลำดับ

 

ขณะที่ในช่วงแรกที่ผู้จัดการเริ่มงานในที่ใหม่ เราพบค่า Alpha เฉลี่ยจากบริษัทเดิมที่เคยทำได้ 0.67% นั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.36% ในบริษัทใหม่ (ช่วงเวลา 3 ปีเหมือนกัน) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าบริษัทใหม่สนับสนุนการทำงานและให้ทรัพยากรที่ดี ทำให้สร้างผลงานในที่ใหม่ได้รวดเร็ว หรืออาจเป็นเพราะขนาดของกองทุนที่ได้มาใหม่นั้นมักมีขนาดเล็กลงกว่าที่เดิม (เฉลี่ยแล้วขนาดกองทุนจะเล็กลง 30%) ซึ่งทำให้ผู้จัดการกองทุนนั้นบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งชื่นชอบในสไตล์การลงทุนที่ได้ตกลงไว้ตอนเริ่มงานในที่ใหม่

 

อย่างไรก็ดีในระยะยาวเราพบว่าค่า Alpha ที่เพิ่มในช่วงปีแรกๆ ค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลานานขึ้น โดยค่าเฉลี่ย Alpha 5 ปีที่ได้พบว่ามีค่าเกือบเท่ากันระหว่างที่ทำงานเดิมและที่ใหม่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเพราะผู้จัดการกองทุนต้องดูแลกองทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อดูผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่สร้างได้ในระยะยาวพบว่าค่า Alpha เฉลี่ยลดลงจาก 1.53% ในที่เดิมมาอยู่ที่ 0.88%ในที่ทำงานใหม่

ถ้าอย่างนั้นนักลงทุนควรอยู่ลงทุนกับผู้จัดการกองทุนคนเดิมหรือไม่ คำตอบคือก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีมากนัก เพราะโดยเฉลี่ยในช่วงแรกผลตอบแทนของกองทุนที่เดิมมักจะแย่กว่ากองทุนที่บริษัทใหม่ ขณะที่เฉลี่ย 5 ปี ผลตอบแทนในที่ใหม่จะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้น้อยลงเมื่อเทียบกับที่เดิม

อีกมุมมองที่สำคัญคือ ในรอบระยะเวลา 5 ปีพบว่ามีสัดส่วนเพียง 2 ใน 3 หรือ 67% เท่านั้นที่ผู้จัดการกองทุนจะสร้างผลตอบแทนโดยให้ค่า Alpha เป็นบวกได้ทั้งในที่ทำงานเดิมและที่ใหม่

นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัดส่วนถึง 42% ของจำนวนผู้จัดการกองทุนที่ย้ายงานนั้นที่ไม่สามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปีในที่ใหม่ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงมากหากเราคิดจะย้ายกองทุนตามผู้จัดการกองทุนคนเดิม เพราะ 1 ใน 3 ของผู้จัดการเหล่านี้มักจะไม่สามารถทำผลงานที่ดีซ้ำได้อีก รวมถึงอาจมีค่า Alpha ติดลบได้ถึง 2.2% อีกด้วย 

ดังนั้นผลงานของผู้จัดการกองทุนในอดีตจึงไม่สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดผลงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้