'อยากรวย' ต้องเข้าใจ 'อคติเชิงพฤติกรรม' กับดักใหญ่ให้คนไทยไม่มีเงินออม
อธิบายสาเหตุ ทำไมไม่รวยสักที? ผ่านหลักคิด "อคติเชิงพฤติกรรม" กับดักความจน ที่ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเสี่ยง แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย!
Key Points :
- "ออมเงิน" เท่าไรก็ไม่สำเร็จ เกิดจากการขาดการวางแผนการเงินอย่างถูกต้อง และ ไม่มองระยะยาว
- ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภาวะ “แก่ก่อนรวย" ก็เป็นเสมือน "ระเบิดเวลา" ลูกใหญ่ที่รอสังคมไทยในอนาคตอันใกล้
- เราอาจอธิบายสาเหตุของความล้มเหลวในการออมเงินได้ด้วย "อคติเชิงพฤติกรรม" ซึ่งหมายถึงการคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ และส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง
ภาวะ “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย” เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศเสี่ยงต้องเผชิญ โดยเฉพาะประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่มีช่วงชีวิต (life span) ยาวนานขึ้น แต่ช่วงสุขภาพ (health span) ไม่ยาวนานตาม ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงเพิ่มขึ้น ขณะที่ขาดความมั่นคงทางการเงิน (wealth span) คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
สาเหตุหลักของภาวะ "แก่ก่อนรวย" ที่มีแนวโน้มจะเกิดกับคนไทยเพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนสำคัญ คือ “ขาดเงินออม” ที่ทำให้ไม่สามารถสร้าง "ความมั่นคงทางการเงิน" ได้สำเร็จ
รากของปัญหาดังกล่าว ส่วนสำคัญ คือ เป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารและวางแผนทางการเงิน ที่ไม่เพียงกระทบต่อความไม่สมดุลระหว่าง "รายได้" และ "รายจ่าย" ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ที่หนักกว่านั้นคือการเป็น "ระเบิดเวลา" รอแผลงฤทธิ์ในบั้นปลายวัยเกษียณ ที่งานไม่มี เงินเก็บก็ไม่เหลือ จนต้อง "พึ่งพิง" ลูกหลาน ที่ส่วนมากรับบทหนัก ลูกหลานก็ต้องดู พ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง จนส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่
จากบทความ เหตุผลที่คนไทย “แก่ก่อนรวย” มองจากมุม “อคติเชิงพฤติกรรม” โดย วราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ระบุถึงเหตุผลที่สามารถหยิบยกมาอธิบายได้คือ "อคติเชิงพฤติกรรม" หรือการคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โดยอคติเชิงพฤติกรรมที่ถูกพูดถึงอย่างมากในวงวิชาการที่ทำให้การออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ ได้แก่
1. อคติชอบปัจจุบัน (present bias) หมายถึง การที่คนทั่วไปมักให้ความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เมื่อพูดถึงการออม เรามักผัดวันประกันพรุ่ง แต่นำเงินไปใช้ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะเราอาจมีปัญหาในการควบคุมตนเอง (self-control problem) แม้จะรู้ทั้งรู้ถึงความจำเป็นในการออมเพื่อมีเงินใช้ตอนเกษียณก็ตาม
2. อคติยึดติดสภาวะเดิม (status quo bias) คือ คนเรามักพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น เลือกที่จะออมในรูปแบบที่คุ้นเคย อย่างการฝากเงินในธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตรที่มีคุณภาพดี ความเสี่ยงไม่สูง แต่ให้ผลตอบแทนกว่าเงินฝากธนาคารมาก เป็นต้น
3. อคติโลกแคบ (narrow framing) คือ การมองทางเลือกที่ต้องพิจารณาในชีวิตเป็นกลุ่มย่อยๆ แยกออกจากกัน หรือเพียงเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
เมื่อเราพิจารณาทุกทางเลือกที่มีในช่วงเวลาเดียวกัน อาจทำให้เราตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ด้อยกว่าโดยไม่รู้ตัว
เช่น มองว่าการออมในปัจจุบันเป็นไปเพื่อบริหารรายรับ-รายจ่ายระยะสั้น หรือเก็บเงินซื้อของราคาแพง แต่กลับมองการออมเพื่อการเกษียณว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่ต้องรีบคิดพร้อมกันตอนนี้
4. อคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (loss aversion) คือ ความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุขจากการได้รับผลตอบแทนที่มีขนาดเท่ากัน เช่น การมองว่าการออมเป็นการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาบริโภค จึงเลือกที่จะออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
5. อคติละเลยอัตราทบต้น (exponential growth bias) คือ การไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งแปลงเงินออมให้มีมูลค่ามากขึ้นทวีคูณได้ หากมีการออมอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ถอนเงินต้นออก
เช่น การที่บุคคลไม่รีบออมเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะประเมินผลตอบแทนจากการออมต่ำเกินไปโดยมองว่าผลตอบแทนเป็นเส้นตรงไม่ใช่ทวีคูณ ทำให้ไม่เข้าใจว่าออมเร็วขึ้นและต่อเนื่องเพียงไม่กี่ปีก็ทำให้มีเงินให้ถอนใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้นมาก
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยทบต้น อาจแสดงตัวในรูปอื่นไม่ใช่เงินฝากธนาคารเท่านั้น เช่นการออมในหุ้น ในอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น และอาจใช้อธิบายกรณีที่เป็นหนี้ยาวนานจนดอกเบี้ยทบต้นเข้าไปในเงินต้นกลายเป็นดินพอกหางหมู
6. แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (peer pressure) คือ อิทธิพลทางสังคมจากคนในกลุ่มเดียวกันทั้งเชิงบวกและลบ ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตาม เช่น มีพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนในสังคมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้ความสามารถในการออมลดลง
7. การมองโลกในแง่ดีเกินไป (overoptimism) คือ รูปแบบหนึ่งของการมีความมั่นใจล้นเกิน (overconfidence) ทำให้เกิดความชะล่าใจในการออมเงิน เช่น คิดว่าเมื่อตนเองเกษียณไป อาจไม่โชคร้ายและเผชิญเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณ และมีการออมน้อยกว่าที่ควร
ผู้เขียนบทความดังกล่าว ระบุว่า "อคติเชิงพฤติกรรม" ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ส่งผลต่อการออมของคนเรา โดยยังมีอคติเชิงพฤติกรรมอื่นๆ อีกหลายประเภทที่อาจส่งผลต่อการออมเพื่อการเกษียณ
ที่สำคัญ คือ แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงสมมติฐานเชิงวิชาการเท่านั้น เพราะยืนยันได้ด้วย “ผลการสำรวจแบบสอบถามในการศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งทำการสำรวจอคติเชิงพฤติกรรม 7 รูปแบบข้างต้น กับคนไทยอายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1,043 คน
ผลการสำรวจ พบว่า คนไทยมีอคติกลัวสูญเสียเกินเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 89 รองลงมาเป็นอคติละเลยอัตราทบต้น (ร้อยละ 53) แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (ร้อยละ 34) อคติชอบปัจจุบัน (ร้อยละ 25) การมองโลกในแง่ดีเกินไป(ร้อยละ 24) อคติโลกแคบ (ร้อยละ 14) และอคติยึดติดสภาวะเดิม (ร้อยละ 12)
น่าสนใจ คือ ใน 1 คนอาจพบได้มากกว่า 1 อคติเชิงพฤติกรรม ส่วนมากพบในกลุ่มผู้มีรายได้และการศึกษาน้อย กลุ่มผู้มีหนี้ และกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 และข้าราชการ
จากข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า คน “กลุ่มเปราะบาง” มักมีอคติเชิงพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มผู้กินดีอยู่ดี แต่ประเด็นที่ต้องหาคำตอบต่อไปคือ อคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้เป็นภัยร้ายต่อความไม่เพียงพอต่อการออมเพื่อการเกษียณ และความไม่พร้อมทางการเงินของคนไทยจริงหรือไม่
วราวิชญ์ โปตระนันทน์ ได้ระบุไว้ในบทความดังกล่าว ว่า หากนิยามคำว่าความไม่พร้อมหรือเปราะบางทางการเงิน ได้แก่ ใช้จ่ายก่อนออม ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณ ไม่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน ไม่ออมจริงจัง มีหนี้สินจากการบริโภคระยะสั้น หาเงินได้ไม่พอใช้หนี้ และมีรายได้ไม่แน่นอน นั้น
พบว่า คนไทยร้อยละ 84 ตกอยู่ในอย่างน้อย 1 หมวดของความเปราะบางนี้ โดยเป็นผลมาจากอคติเชิงพฤติกรรมหลายประการที่ทำงานสอดประสานต่อพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคล ซึ่งพบว่าการมีอคติเชิงพฤติกรรมทุกชนิดทำให้มีโอกาสเกิดความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้น ยกเว้นอคติกลัวสูญเสียเกินเหตุเท่านั้นที่ให้ผลตรงข้าม (ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาอีกประการว่ากลุ่มผู้มีความพร้อมทางการเงิน หรือมีรายได้สูงและไม่มีหนี้สินมักมีโอกาสที่จะกลัวความสูญเสียมากขึ้น)
ทั้งนี้ ผู้เขียน ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับข้อค้นพบดังกล่าวว่า สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของ “กับดักแก่ก่อนรวย” ที่คนไทยออมไม่พอเพราะมีอคติเชิงพฤติกรรม ส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางนี้เองก็เป็นกลุ่มที่ออมไม่พอ
โดยหวังว่าจะได้เห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเริ่มคิดหามาตรการ “เชิงรุก” ใหม่ๆ ในการเพิ่มการออมของคนไทยให้ “รวยก่อนแก่” มากกว่าที่จะมาแก้ปัญหา “เชิงรับ” เพื่อบรรเทาปัญหาของสังคมสูงวัยที่ปลายเหตุ (เช่นเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) ดังที่ปฏิบัติกันอยู่และใช้เม็ดเงินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน