ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ คุมเงินเฟ้อ ระวังเจาะฟองสบู่หนี้แตก
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง สะท้อนถึงความเปราะบางในระบบการเงินไทย แม้หนี้ทั้ง 6 แสนล้านบาทจะยังไม่ได้กลายเป็นหนี้เสีย แต่มีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาไปเป็นเช่นนั้นได้ ถ้าดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง
ถ้าเป็นไปตามที่ตลาดเงินคาดการณ์เอาไว้ ในวันนี้ (31 พ.ค.) เราน่าจะได้เห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) “ปรับขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี นับจากเดือน ม.ค. 2558 แต่สิ่งที่ตลาดเฝ้าจับตาดูมากที่สุดในการประชุมวันนี้ คือ กนง. จะส่งสัญญาณอย่างไรต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า เพื่อดูว่าการประชุมในวันนี้ หากปรับดอกเบี้ยขึ้นจะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายของรอบแล้วหรือไม่!
ย้อนกลับไปดูสัญญาณที่ กนง. ส่งออกมาในการประชุมครั้งก่อน (29 มี.ค.) ระบุชัดเจนว่า ยังคงกังวลต่อ “เงินเฟ้อ” ที่อาจซ่อนใน แม้ว่าตัวเลขจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม ล่าสุดเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2566 ขยายตัวประมาณ 2.67% เติบโตลดลงเป็นเดือนที่ 4 และยังเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ซึ่งถ้ามองในมุมนักเศรษฐศาสตร์ หลายคนเริ่มคลายกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อไปแล้ว จะห่วงก็เพียงแนวโน้มเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังช้าและไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก ที่สำคัญหนี้สินของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนในปัจจุบันยังสูงท่วมหัว ซึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด
เราชวนไปดูภาพ “หนี้ครัวเรือน” ของไทยกันก่อน... เครดิตบูโร หยิบตัวเลขล่าสุดมาโชว์ พบว่า “หนี้ค้างชำระ” หรือ หนี้ที่เรียกว่า Special Mention (SM) ซึ่งเป็นหนี้ที่ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน (จึงยังไม่กลายเป็นหนี้เสีย) มียอดสะสมราว 6 แสนล้านบาท นับเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หากคิดเป็นจำนวนบัญชีอยู่ที่ 2.37 ล้านบัญชี
โดยกลุ่ม Gen Y หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 23-43 ปี เป็นกลุ่มที่มีบัญชีค้างชำระมากสุดถึง 52% หรือประมาณ 1.23 ล้านบัญชี ส่วน Gen X หรือผู้ที่อายุ 43 ปีขึ้นไป มีบัญชีค้างชำระราว 7.58 แสนบัญชี ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุเกินกว่า 50 ปีขึ้นไป มีบัญชีค้างชำระราว 2.37 บัญชี
ที่น่าห่วงอีกกลุ่ม คือ กลุ่ม Gen Z หรือกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 23 ปีลงมา ซึ่งเป็นวัยที่ยังเรียนอยู่หรือเพิ่งเริ่มทำงาน กลับพบว่า มีบัญชีค้างชำระสูงถึง 1.42 แสนบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ก่อหนี้เร็วขึ้นและยังมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นหนี้เสียอีกด้วย
...ตัวเลขทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงความเปราะบางในระบบการเงินไทยที่ยังคงมีอยู่ แม้หนี้ทั้ง 6 แสนล้านบาท จะยังไม่ได้กลายเป็นหนี้เสีย แต่มีแนวโน้มสูงที่จะพัฒนาไปเป็นเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะถ้าดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง
ไม่เฉพาะหนี้ครัวเรือนเท่านั้นที่น่ากังวล หนี้ภาคธุรกิจเองก็ต้องจับตาดูใกล้ชิด ในฝั่งของธนาคารพาณิชย์เชื่อว่าคงเตรียมการรับมือปัญหาเหล่านี้ไว้แล้ว แต่ในส่วนของ “หุ้นกู้” ผู้ลงทุนควรต้องจับตาให้ดี เพราะแค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (Default) เพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบ 1.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่ายอดปีที่แล้วทั้งปีไปเป็นที่เรียบร้อย น่าคิดว่า หากดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นต่อเนื่อง “ภาคธุรกิจ” ต่างๆ จะต้านทานได้นานแค่ไหน เพราะต้องไม่ลืมว่า เราไม่เคยเจอดอกเบี้ยที่สูงเช่นนี้มาเกือบๆ 8 ปีแล้ว!