คลังเตรียมทบทวนกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินภายในปี 67
คลังเตรียมทบทวนกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินภายใน 67 รับพบข้อร้องเรียนปัญหาการจัดเก็บ ขอบรรเทาภาระภาษี ปัดไม่ทราบรายละเอียดรื้อภาษีที่ดินพรรคก้าวไกล ประเมินกทม.จะมีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทจากฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกกำหนดให้เป็นภาษีเพื่อจัดเก็บกับทรัพย์สินเฉพาะอย่างโดยมาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่ปี 2563 แต่ปัญหาความไม่พร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และความกังวลของผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากทำให้มีข้อเรียกร้องตลอดการยกร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึงแม้ว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้มา4 ปีก็ยังมีเสียงเรียกร้องขอให้รัฐบาลกลับไปใช้ภาษีโรงเรียนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เหมือนเดิม รวมถึงเสียงเรียกร้องล่าสุดของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาระบุว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้กรุงเทพมหานครเก็บภาษีได้น้อยลง และขอให้รัฐบาลใหม่ทบทวนการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา สศค. ได้รับข้อเสนอแนะ เช่น ปัญหาในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ข้อเสนอการบรรเทาภาระภาษี และประเด็นปัญหาในข้อกฎหมาย เป็นต้น โดย สศค.จะพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และกรณีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ก็ได้ส่งเรื่องให้ อปท. ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดี กรณี อปท. คณะกรรมการประจำจังหวัด หรือกระทรวงมหาดไทย ขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำหรือคำวินิจฉัยภาษีเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ สศค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อไป นอกจากนี้ กรณีผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษี สามารถใช้สิทธิคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินภาษีได้ โดยยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในส่วนของสศค.มีแนวคิดจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ โดยอยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ซึ่งจะต้องมีการสำรวจความเห็นจากหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567
สำหรับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ต้องการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าว ทางสศค.มีความเห็นอย่างไรนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ สศค.ยังไม่ทราบรายละเอียด อย่างไรก็ดี ภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีของท้องถิ่น และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางการคลังให้กับท้องถิ่น
ทั้งนี้ ความเป็นมาของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯนั้น ในช่วงก่อนปี 2563 ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบภาษีโรงเรือนฯ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยภาษีโรงเรือนฯ ใช้ค่ารายปี (จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ) เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ และทำให้เกิดปัญหาในการประเมินค่ารายปี และมีการจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่ที่สูงถึง 12.5% ของค่ารายปีสำหรับภาษีบำรุงท้องที่จะใช้ราคาปานกลางของที่ดินตามที่คณะกรรมการพิจารณาราคาปานกลางของที่ดินกำหนดประจำปี พ.ศ. 2521 – 2524 มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ และมีอัตราภาษีมากถึง 34 ขั้น
ดังนั้น กฎหมายภาษีที่ดินฯ จึงถูกนำมาใช้แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่เมื่อปี2563 เป็นต้นมา เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน โดยภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีฐานทรัพย์สินมีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่พิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจัดเก็บจากเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี
โดยใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพก็จะถูกจัดเก็บภาษีด้วย การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จึงทำให้ผู้เสียภาษีที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำ และกรณีผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกัน ขนาดเท่ากันและมีการใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่ากัน จึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ในปี 2563 – 2565 ช่วงระยะ 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ได้แก่ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) และการบรรเทาการชำระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีที่มีภาระภาษีที่ดินฯ สูงกว่าภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 (ค่าภาษีปี 2562) โดยให้ชำระภาษีที่ดินฯ เท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกด้วย 25% 50% และ 75% ของส่วนต่างของค่าภาษีปี 2562 กับค่าภาษีที่ดินฯ ในปี2563 2564 และ 2565 รวมถึงในปี 2563 – 2564 มีการลดภาษี 90% เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)
ส่วนกรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.)ออกมาระบุว่า มีรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เคยจัดเก็บได้ ทางสศค.ขอชี้แจงว่า ในส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กทม. พบว่าข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565 ซึ่งยังคงมีการบรรเทาภาระภาษีตามข้อ 2 กทม. มีรายได้ภาษีที่ดินฯ จำนวนประมาณ 1,256 ล้านบาท 1,802 ล้านบาท และ 12,347 ล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล ณ เดือนก.ย.65) โดยมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีที่สูงขึ้นและใกล้เคียงกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ที่ กทม. จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวนประมาณ 15,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปคาดว่า กทม. จะมีรายได้ภาษีที่ดินฯ เพิ่มขึ้นจากฐานภาษีที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีจะมีการปรับปรุงทุก ๆ 4 ปี โดยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประกอบกับ กทม. ยังสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากผู้เสียภาษีที่แต่เดิมเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไม่เคยมาแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่า กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในเขต กทม. ดังนั้นหาก กทม. สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเขต กทม. และมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว จะสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ หาก กทม.ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ครบถ้วนแล้ว และยังต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มาตรา 37 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ได้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ
“ขอเน้นย้ำว่า กรณีการนำภาระภาษีโรงเรือนฯ และภาษีที่ดินฯ ของผู้เสียภาษีรายใดรายหนึ่งมาเปรียบเทียบกันนั้น จะยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงภาระภาษีทั้งหมด เนื่องจากภาษีแต่ละประเภทมีหลักการในการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกัน โดยกรณีผู้เสียภาษีมีเงินได้จากการทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเช่น ให้เช่า ประกอบกิจการค้าขาย เป็นต้น จะต้องนำรายได้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณีด้วย”