บลจ.บัวหลวง แจงยิบลงทุนในหุ้น STARK ยันซื้อขายหุ้นในกองทุนไม่มีรับเงินถอน
บลจ.บัวหลวง ส่งหนังสือแจงการลงทุนในหุ้น STARK และข้อสงสัยเรื่องการลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การบริหาร ยันซื้อขายหุ้นในกองทุนต่างๆ ไม่มีรับเงินถอน
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Chief Executive Officer บลจ.บัวหลวง (BBLAM) ชี้แจงเรื่องกระบวนการลงทุนของ บลจ.บัวหลวงใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ว่า บริษัทได้ทำการวิเคราะห์ และเริ่มลงทุนหุ้นSTARK ให้กองทุนต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2563 โดยมองเห็นโอกาสการเติบโตในระยะยาวจากธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลประกอบการตามที่ปรากฏในงบการเงินของกิจการที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองจาก Auditor ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่ง STARK ได้ประกาศดีลเข้าซื้อ LEONI ในช่วงเดือนพ.ค.2565 และออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งยิ่งทำให้ผู้จัดการกองทุนเห็นโอกาสของการเติบโตจึงได้เข้าร่วมลงทุนในหุ้นของ STARK เช่นเดียวกับผู้ลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกหลายแห่ง
เมื่อ STARK ประกาศยกเลิกดีลการซื้อกิจการ LEONI กองทุนก็ได้ทยอยขายหุ้น STARK เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณที่แย่ลง ของปัจจัยพื้นฐานตามข้อมูลที่ปรากฏ และติดตามข้อมูลของบริษัทอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหุ้น STARK ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขายไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2566 เนื่องจากไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ (ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้มีการซื้อขายอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566)
บริษัทได้ติดตามเหตุการณ์ของหุ้น STARK มาโดยตลอด และได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความระมัดระวัง รวมถึงใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่างๆ ตามที่ปรากฏ เพื่อประมาณมูลค่ายุติธรรมของหุ้น STARK ขึ้นมาใหม่ และขายหุ้นออกบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยประเมินเบื้องต้นว่า บริษัทยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และรอการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีในวันที่ 16 มิ.ย.2566 เพื่อใช้ประเมินการลงทุนในหุ้น STARK ต่อไป
บริษัทขอเรียนว่าเป้าหมายของกองทุนรวมคือ มุ่งหวังผลตอบแทนจากพอร์ตโดยรวมที่มีการลงทุนกระจายในกิจการต่างๆ ที่เรามองเห็นโอกาส พยายามเฟ้นหากิจการที่มีโอกาสเติบโต สร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคต และกระจายการลงทุนไปในหลายๆ หลักทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงกับลดผลกระทบในกรณีที่ผลประกอบการหรือราคาหุ้นของบางกิจการในพอร์ตไม่เป็นดังคาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในการลงทุนที่มิอาจลงทุนแล้วประสบผลสำเร็จได้ในทุกกิจการ
“ท้ายนี้ ขอเรียนยืนยันกับผู้ลงทุนว่าบริษัทยังคงยึดมั่นกับแนวทางการลงทุนที่ถือปฏิบัติมาต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท โดยยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ และขอย้ำว่าการตัดสินใจซื้อขายหุ้นให้กองทุนต่างๆ นั้น มิได้มีการรับเงินทอนหรือกระทำทุจริตผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพแต่ประการใดทั้งสิ้น”
บลจ.บัวหลวง ยังได้ชี้แจงข้อสงสัยเรื่องการลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารว่า
1. มีกระบวนการลงทุน และการตัดสินใจลงทุนอย่างไร
บริษัทมีกระบวนการลงทุนที่เป็นไปตามหลักสากล มีคณะกรรมการจัดการกองทุน (Investment Committee หรือ IC) ดูแล ซึ่งประกอบไปด้วยทีมงานผู้จัดการกองทุน ทีมงานนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทีมเศรษฐกิจ ที่มีประสบการณ์ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งหลักทรัพย์ไทย และต่างประเทศ ทั้งนี้ IC ยึดมั่นที่จะแสวงหาผลตอบแทนในระยะยาวด้วยกระบวนการพิจารณาที่เป็นมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักวิชาชีพ โดยมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม
ในการพิจารณาว่าหลักทรัพย์ใดสามารถลงทุนได้นั้น IC ใช้กระบวนการกลั่นกรองคัดเลือกหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโต และให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสมเหตุสมผลโดยเริ่มจากเฟ้นหาธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน และอนาคต (Identified Themes) เช่น สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
จากนั้นจะพิจารณาหากิจการที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน (Durable Competitive Advantages) จากความสามารถในการแข่งขันในตลาด สถานะการเงิน สินค้า และบริการที่เป็นที่ต้องการรวมถึงการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของกิจการ
เมื่อได้รายชื่อของกิจการที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนแล้ว จึงจะดูลึกถึงโอกาสของการเติบโต (Growth Factors) จากแนวโน้มของกิจการ ความสามารถในการทำกำไร กระแสเงินสด และความยั่งยืนของกิจการ โดยประเมินความเหมาะสมในด้านมูลค่า (Valuation) จากงบการเงิน อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ จากแหล่งข้อมูลที่ผ่านการรับรอง น่าเชื่อถือ อย่างงบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีบทวิเคราะห์ต่างๆ รวมถึงการเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) แล้วจึงจะนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์เองภายในบริษัท เพื่อกลั่นกรองว่าหลักทรัพย์ใดมีคุณภาพเพียงพอต่อการพิจารณาลงทุน
รายชื่อหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองเป็นลำดับแล้วนั้น เมื่อ IC พิจารณาอนุมัติแล้วจะเข้าไปอยู่ใน Investment Universe ซึ่งเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่ให้ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนได้ตามความเหมาะสมกับนโยบายของแต่ละกองทุน หาก เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้อยู่ใน Investment Universe ผู้จัดการกองทุนจะลงทุนมิได้
2.การลงทุนในกิจการใหม่ๆ มีความเสี่ยงเกินไปหรือไม่
การแสวงหาโอกาสจากการเติบโตระยะยาวตามเมกะเทรนด์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นในการสรรหากิจการที่น่าลงทุนให้กองทุน สำหรับประเทศไทยนั้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในเรื่องเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ด้านโครงสร้างประชากร และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่คือ เมกะเทรนด์ที่โดดเด่น มีกิจการใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นมากมาย การลงทุนในกิจการต่างๆ เหล่านี้คือ โอกาส หากการเติบโตเป็นไปตามคาดการณ์
ผู้จัดการกองทุนทราบดีว่าการลงทุนในกิจการใหม่ๆ เหล่านี้มีความท้าทาย รวมถึงผลประกอบการมีความผันผวนสูงโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว และส่งผลต่อกำไรขาดทุน และโอกาสของกิจการได้ง่าย จนทำให้หุ้นบางตัวมีผลประกอบการไม่เป็นดังคาด และมีราคาลดลง
เมื่อไม่เป็นไปตามคาด ผู้จัดการกองทุนก็อาจจะปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามมุมมองที่มีต่อกิจการ นั้นๆ และนโยบายของกองทุนนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ดี หากผู้จัดการกองทุนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องระยะสั้นชั่วคราวก็สามารถรอคอยการเติบโตของผลกำไรในอนาคต แม้ผลประกอบการปัจจุบันที่ปรากฏตามงบการเงินจะยังไม่สะท้อนมูลค่าที่คาดหวัง ก็สามารถถือต่อหรือแม้แต่จะลงทุนเพิ่มก็ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนของการซื้อขายเท่านั้น บริษัทขอเรียนว่าหลายกิจการมีการลงทุนให้กองทุนมายาวนาน มีการทยอยสะสม ซื้อขายทำกำไร มีการปรับสัดส่วนการลงทุนเรื่อยมา และได้สร้างผลกำไรให้กับกองทุนในด้านราคารวมถึงได้รับเงินปันผลมาอย่างต่อเนื่อง การจะดูภาพรวมของการลงทุนในกิจการต่างๆ ต้องดูผลลัพธ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ลงทุนได้กำไรขาดทุนเพียงใด ไม่ใช่เลือกดูเป็นบางธุรกรรมการซื้อขาย
3. เหตุใดจึงลงทุนปริมาณสูงในหุ้นบางตัวจนบางกองทุนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้นนั้นๆ
บริษัทมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารเฉพาะกองทุนหุ้น (ทั้งกองทุนเปิดทั่วไปและกองทุนลดหย่อนภาษี ณ ปัจจุบัน แต่ไม่นับกองทุนประเภท FIF) รวมกันประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งหลายกองทุนมีขนาดใหญ่ เช่น บัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) ที่มีขนาดกองทุนประมาณ 45,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนตั้งแต่ 13 พ.ย. 2547 และบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (BLTF75) ที่มีขนาดกองทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนตั้งแต่ 18 พ.ค. 2550
จากขนาดกองทุนที่ใหญ่ ทำให้การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวอาจจำเป็นต้องลงทุนในปริมาณที่ส่งผลต่อความคุ้มค่าในการบริหารพอร์ตโดยรวมของกองทุนฯ ซึ่งทำให้ปรากฏรายชื่อกองทุนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการนั้นๆ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหุ้นที่ลงทุนในแต่ละกองทุนจะพบว่าสัดส่วนหุ้นแต่ละตัวในกองทุนไม่สูงเกินไปเนื่องจากแต่ละกองทุนได้มีการกระจายการลงทุนไปในหุ้นหลายๆ ตัวเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวทั้ง 2 กองทุนในปัจจุบันมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 70 ตัว
4. ทำไมต้องซื้อหุ้นบางตัวเข้ากองทุนแบบ Big Lot
Big Lot คือ การซื้อขายหลักทรัพย์ในกระดานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดไว้สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ เช่น นักลงทุนสถาบัน หรือเจ้าของกิจการ เป็นต้น การซื้อ Big Lot จะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายใหญ่อย่างกองทุนรวมที่ต้องลงทุนในจำนวนหุ้นที่มากเพื่อให้ได้ปริมาณหุ้นมากพอที่จะคุ้มค่าต่อการลงทุนในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กมักไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายต่อวันมากเหมือนหุ้นขนาดใหญ่ และหากจะไปไล่ซื้อในตลาดก็จะเป็นการไล่ราคาให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (หมายรวมถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วกรณีขายหุ้นด้วย) ซึ่งอาจถูกพิจารณาได้ว่ามีการไล่ซื้อเพื่อดันราคาหุ้น หรือไล่ทุบหุ้นให้ราคาต่ำลงหากเป็นกรณีขายหุ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์