ธปท.เตรียมออกมาตรการ ‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ก.ค.นี้

ธปท.เตรียมออกมาตรการ ‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ก.ค.นี้

“ธปท.”คาดออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยังยืน ก.ค.นี้ หวัง “แก้หนี้เดิม-ป้องกันการก่อหนี้ในอนาคต” ดันลูกหนี้เข้า “คลินิกแก้หนี้”เพิ่มครึ่งปีหลัง อีก5 หมื่นคน เตรียมเชิญผู้ประกอบการเช่าซื้อหารือหลังกฎหมายกำกับเช่าซื้อผ่าน “คลินิกแก้หนี้”หลังปรับเกณฑ์ยอดทะลัก

    ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทย อยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 86.9% แม้ปรับลดลงต่อเนื่อง จากในช่วง 2-3ไตรมาสที่ผ่านมา แต่หนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังถือเป็นระดับที่สูง หากเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

      นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่ธปท.ให้ความสำคัญ และติดตามมาโดยตลอด ซึ่งหากย้อนดูหนี้ครัวเรือนในอดีต พบว่าไม่เกิน60% แต่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ขึ้นมาเกือบ90%

       ดังนั้นธปท.จึงเห็นว่า “หนี้ครัวเรือน”เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องรีบแก้ไข ทำให้ธปท.มีการออกมาตรการมาต่อเนื่อง เช่นโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ที่ธปท.คาดหวังว่าจะเห็นลูกหนี้เข้าโครงการเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง2566 อีก 5 หมื่นคน  โดยหวังว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในระบบ และช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในระบบได้

       รวมถึงล่าสุดธปท.อยู่ระหว่างการเร่งออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นทั้งมาตรการที่แก้หนี้เดิม และการแก้หนี้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าตัวมาตรการจะสามารถประกาศออกมาได้ในช่วงเดือน ก.ค. 2566 โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยแก้หนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
 

       สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น จะมีทั้งมาตรการป้องกัน เช่น การให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ และการปล่อยสินเชื่อบนดอกเบี้ยที่มีความเหมาะสมกับลูกหนี้

      ขณะเดียวกันตัวมาตรการก็จะออกมาแก้หนี้เดิมที่อยู่ในระบบมานานด้วย

       นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ส่วนการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งหลังจากกฎหมายบังคับใช้ ธปท.คงต้องเรียกผู้ประกอบการเช่าซื้อมาหารือด้วย เพื่อทำความเข้าใจ และเพื่อให้บริการที่ถูกต้อง

      อย่างไรก็ตามขอบเขตการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อของธปท. หลักๆ คือการคุ้มครองผู้บริโภค การให้บริการที่เป็นธรรม ดังนั้นส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยที่อาจกระทบต่อผู้บริโภคส่วนนี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องที่ธปท.ต้องดูแลด้วย

     สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้ง Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เป็นครั้งที่สอง ในช่วง19 มิ.ย. - 4 ก.ค.นี้ หวังตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งธปท.จะพยายามออกแนวปฏิบัติ หรือออกเกณฑ์ดังกล่าวให้ทันภายในไตรมาส 3ปีนี้

     ทั้งนี้จากการจับมือของสถาบันการเงิน ร่วมกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร หรือ ธนาคารดิจิทัลต่างประเทศ เหล่านี้ก็สะท้อนว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้มองถึงศักยภาพ และโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจนี้ และเชื่อว่าการเข้ามาทำธุรกิจในอนาคตจะไม่เป็นการให้บริการทับซ้อนกับกลุ่มลูกค้าเดิม สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่ธปท.ต้องการให้ผู้ประกอบการเข้าไปปิดช่องว่าง คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน

      นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(บบส.)หรือ SAM กล่าวว่า หลังจาก คลินิกแก้หนี้มีการปรับเกณฑ์ โดยให้ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียหรือค้างชำระเกิน 120 วันเข้าโครงการได้ พบว่ามีลูกหนี้จำนวนมากติดต่อขอเข้าโครงการเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมที่มีการยื่นขอเข้าโครงการ 6,000 รายต่อเดือน เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นรายต่อเดือน

       ส่งผลให้เดือนพ.ค. มียอดขอเข้าโครงการอยู่ที่ 1.76 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 288% และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้สมัครเข้าโครงการเพิ่มถึง 1.55 แสนบัญชี

         ทั้งนี้หากนับตั้งแต่เปิดโครงการตั้งแต่ปี 2560 มียอดลูกหนี้ที่ลงนามเข้าโครงการสำเร็จแล้ว 4 หมื่นราย คิดเป็น 1.16 แสนสัญญา วงเงินเกือบ 8 พันล้านบาท