รัฐบาลหาช่องลดภาษีน้ำมันดีเซลอีก2เดือน

รัฐบาลหาช่องลดภาษีน้ำมันดีเซลอีก2เดือน

รัฐบาลกำลังหาช่องทางในการขยายอายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท อีก 2 เดือน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน หลังจากที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้

โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าหารือ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสามารถลดภาษีได้อีกหรือไม่ เนื่องจาก การปรับลดภาษีในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ อาจขัดต่อข้อกฎหมาย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร  นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีมสรรพสามิต นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจทรวงการคลัง (สศค.)เดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายอาคมกล่าวว่า ได้ไปรายงานสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ไม่มีประเด็นอะไรพิเศษ ถือเป็นการไปอัพเดตสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และรวมถึง การต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน หรือ สิ้นสุดในเดือนก.ย.นี้ แต่การลดภาษีดังกล่าว อาจจะไม่สามารถทำได้ในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการณ์ แม้ว่า รัฐบาลรักษาการณ์จะสามารถใช้นโยบายการคลังในการดูแลเศรษฐกิจได้ก็ตาม

“ยังมีประเด็นที่ต้องถกกันในเรื่องของมาตรการลดภาษีจะสามารถทำได้ในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์หรือไม่เพราะมีหนังสือที่เป็นมติคณะรัฐมนตรีฉบับหนึ่งออกมาระบุว่า อะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้ ในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ โดยในเรื่องของภาษีนั้น ได้ดูแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ จึงต้องให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะการลดภาษีจะมีภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ด้วย ไม่เหมือนกับการลดอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลสามารถใช้งบกลางมาช่วยเหลือประชาชนได้”

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นว่า ควรจะมีแนวทางอื่นเข้ามาช่วย เช่น การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งขณะนี้ ผลประกอบการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ดีขึ้นแล้ว ดังนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะต้องมีนโยบายในการเข้ามาบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดนี้ ได้ใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนมาแล้วจำนวน 9 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.65 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยการลดอัตราภาษีดังกล่าว ได้ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จำนวนมากถึง 1.65 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตรละ 1 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อเดือน 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า นายกฯ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรายงานเรื่องสถานการณ์รายได้ และรายจ่ายงบประมาณว่ามีการคาดการณ์อย่างไร เงินคงคลังเกินดุล หรือไม่เกินดุล โดยในส่วนของกรมสรรพากรนั้น ก็มีการคาดการณ์การจัดเก็บรายได้ของกรมฯว่า ปีงบประมาณ66 นี้ จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม กรมฯก็ไม่ได้ประมาท โดยจะมีการติดตาม และดูแลสถานการณ์การจัดเก็บรายได้อย่างใกล้ชิด

ส่วนกรณีหากรัฐบาลมีการต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล รายได้ของสรรพากรจะช่วยเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไปหรือไม่ นายลวรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะมีการต่ออายุมาตรการภาษีน้ำมันดีเซลหรือไม่ แต่กรมฯก็รายงานเพียงสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของกรมไปเท่านั้น 

“เราได้รายงานรัฐบาลว่า เป้าหมายการณ์จัดเก็บรายได้ของเราเป็นอย่างไร และใช้กลยุทธ์อะไรบ้าง รวมทั้ง มีการประเมินว่า หากทำเต็มที่แล้ว กรมฯจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย 1.5-2 แสนล้านบาท จากเป้าการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 66 อยู่ 2.029 ล้านล้านบาท”

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิต ณ สิ้นเดือนพ.ค.66 ในปีงบประมาณ 66 จัดเก็บได้ 3.13 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 6.57 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจาก การปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ออกมาตรการภาษีดังกล่าว ผลจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็นปีงบประมาณ 65 เก็บภาษีน้ำมันได้ 1.67 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 4.3 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 64 จัดเก็บ 2.03 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.74 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 63 จัดเก็บได้ 2.24 แสนล้านบาท เกินเป้า 1.44 หมื่นล้านบาท ปีงบประมาณ 62 จัดเก็บได้ 2.1 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.48 หมื่นล้านบาท  ปีงบประมาณ 61 เก็บภาษีน้ำมันได้ 2.24 แสนล้านบาท เกินเป้า 7.99 พันล้านบาท  

ทั้งนี้ สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐในช่วง 7 ปีงบประมาณ 66  (ต.ค.65-เม.ย.66) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.37 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.12 แสนล้านบาท หรือ  8.9 % สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน  7.4 % ซึ่งเป็นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย