‘กองทุน’ลุ้น เศรษฐกิจไทยโต-พี/อีต่ำ-กำไรบจ.ฟื้น ดันหุ้นไทยครึ่งปีหลัง
“บลจ.อีสท์สปริง” มองการเมืองไทย กดดันดัชนีหุ้นไทยหลุด 1,500 จุด มอง 6 เดือนข้างหน้ายัง น่าสนใจ มีอัปไซด์เพิ่ม 5-7% ทยอยสะสม-สลับกลุ่มหุ้นได้ประโยชน์ แบงก์-ท่องเที่ยว-สุขภาพ -โรงพยาบาล “บลจ.ไทยพาณิชย์” คัดหุ้นเด่นเข้าพอร์ต “บลจ.เอ็กซ์ปริง” ชี้หุ้นใหญ่ ราคาขึ้นได้ 10-15%
ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่เปิดสัปดาห์นี้ปรับตัวลงมาหลุด 1,500 จุด โดยปิดตลาดวานนี้ (27 มิ.ย.) อยู่ที่ 1,478.10 จุด ลดลง 7.22 จุด หรือ 0.49% ด้วยสารพัดปัจจัยกดดัน แต่สาเหตุหลักที่กระทบมากมาจากหุ้นไทยมีสัดส่วนน้ำหนักในหุ้นกลุ่มพลังงานสูง ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share) ของดัชนีหุ้นไทย
อีกทั้งยังมีปัจจัยเฉพาะตัวเรื่องความกังวลภาวะตลาดเชิงลบกรณีการผิดนัดชำระของผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่มีมูลค่าสูงลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาในรอบหลายปี รวมถึงการที่หุ้นใหญ่บางตัวติดเกณฑ์ Cash Balance ส่งผลให้ทิศทางตลาดเข้าสู่ขาลง
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวต่ำกว่า 1,500 จุด ต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยเดิมที่ยังคงกดดัน คือ 1. การเมืองในประเทศ ยังไม่ชัดเจน 2. ความโปร่งใสของตลาดหุ้นไทย กระทบหุ้นขนาดใหญ่ได้รับเซ็นทริเม้นต์เชิงลบ แม้ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนแปลง และ3.ตลาดยังมีความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ก.ค.
โดยมอง 3 ปัจจัยเป็นแรงกดดันระยะสั้น ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลงมาระดับต่ำ 1,500 จุด มีความน่าสนใจลงทุนระยะ 6 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นปีนี้ มีอัปไซด์ราว 5-7% ในขณะที่ดาวน์ไซด์จำกัดมากแล้ว หากไม่มีปัจจัยใหม่กดดัน
ทั้งนี้ ยังมี 3 ปัจจัยพื้นฐานยังสนับสนุนดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวคือ 1.เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดขยายตัวได้ 3.5-3.6% โดยเฉพาะท่องเที่ยวเติบโต มีแต่ส่งออกที่กดดันเท่านั้น ส่วนเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ได้กดดันตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจไทย 2. ระดับราคาหุ้นที่พี/อี 15-16 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่พี/อี 17 เท่า ถือว่ามีความน่าสนใจลงทุนระยะกลาง-ยาว 3.กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)ในปีนี้ยังเติบโตได้ดีคาดโต6-7% ในปีนี้
นายบดินทร์ กล่าวว่า ผู้จัดการกองทุน ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนหุ้นไทยระยะ 6 เดือนข้างหน้า มองดัชนีหุ้นไทยระดับต่ำกว่า 1,500 จุด เป็นจังหวะเข้าทยอยเก็บหุ้นไทยพื้นฐานดี ราคายังไม่ปรับขึ้นมากและมีแนวโน้มการเติบโตได้ต่อเนื่อง กลุ่มหุ้นน่าสนใจ ได้แก่ ท่องเที่ยว สุขภาพ โรงพบาบาล และธนาคารพาณิชย์ สลับเปลี่ยนกลุ่มหุ้นได้รับผลกระทบเชิงลบกดดัน เช่น พลังงานและส่งออก
แต่ในช่วง 1 -2 เดือนข้างหน้าการเข้าลงทุนหุ้นไทย อาจต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะในเดือน ก.ค.เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองภายใน และมีความเป็นไปได้ที่การเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้นและตลาดน่าจะรับข่าวล่วงหน้าไปบ้างแล้ว
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยังให้มุมมองเป็นกลางต่อหุ้นไทย แม้ว่าปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยจะปรับฐานลงมา จากนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยเฟดและดอลลาร์แข็งค่าทำให้ฟันด์โฟลว์ออก และยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศ , ประเด็นความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยยังกดดันเซ็นทริเม้นต์การลงทุน
แต่มองว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังมีโอกาสอัพไซด์ มากกว่า ดาวน์ไซด์ หากปัจจัยการเมืองในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีออกมามีความชัดเจนขึ้น และการท่องเที่ยวยังฟื้นตัว โดยเฉพาะช่วงปลายปีนี้ยังเป็นความหวังเศรษฐกิจไทย
รวมถึงปัจจัยราคาน้ำมัน แม้ปัจจุบันจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 70 ดอลาร์ต่อบาร์เรล แต่คาดว่าทางโอเปกรักษาราคาน้ำมันไว้ ไม่หลุดระดับนี้แล้ว และจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มน่าจะทำให้ราคาน้ำมันยังปรับขึ้นได้
ดังนั้น ในช่วงนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาหลุด 1,500 จุด เป็นโอกาสเข้าไปสะสมคัดเลือกหุ้น กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุน ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้อานิสงส์การดอกเบี้ยนโยบายยังปรับขึ้น ทำให้ NIM ของธนาคารพาณิชย์ เริ่มปรับตัวขึ้น ,กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มค้าปลีก ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากการท่องเที่ยว ยังคงมุมมองดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้ ไว้ที่ 1,700 จุด
นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอ็กซ์สปริง กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยต่ำกว่า 1,500 จุด เป็นโอกาสนักลงทุนเข้าทยอยสะสมที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่มีโอกาสราคาปรับขึ้นไปที่ระดับ 10-15% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และยังคงมองดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,700 จุด บนสมมติฐานที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปด้วยดีในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
แนะนำเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มที่สามารถจ่ายปันผลได้ โดยดัชนี SETHD ซึ่งหุ้นในกลุ่มปันผลนั้น มักมีลักษณะที่เป็นหุ้นเชิงรับ และปรับลดน้ำหนักหุ้นกลุ่มเติบโต รวมถึงใช้กลยุทธ์กระจายลงทุนให้ไม่กระจุกตัวหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง